สัญญาณอันตราย!! ‘ญี่ปุ่น’ ทุบสถิติ ยอดประชากรเกิดต่ำสุดในรอบ 40 ปี ‘นายกฯ’ ชี้ เป็นวิกฤต สั่งเร่งแก้ไข-เพิ่มงบหนุน 2 เท่า

(1 มี.ค. 66) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงาน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ว่า จำนวนการแจ้งเกิดในญี่ปุ่นลดตัวลงอีกครั้ง และทำลายสถิติต่ำที่สุดอย่างต่อเนื่องเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปัญหามานานหลายสิบปี สถิติการเกิดในประเทศล่าสุดที่น่ากังวลนี้ สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นในการกระตุ้นการเกิดใหม่ของประชากร แม้จะมีความพยายามอย่างหนักก็ตาม

จากสถิติการเกิดที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ญี่ปุ่นมีจำนวนเด็กทารกเกิดใหม่จำนวน 799,728 คนเมื่อปี 2022 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จำนวนการเกิดของประเทศอยู่ต่ำกว่า 800,000 คน โดยยอดดังกล่าวลดลงเกือบครึ่งหนึ่งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ในอดีตญี่ปุ่นเคยมีสถิติการเกิดมากกว่า 1.5 ล้านคนในปี 1982

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้รายงานจำนวนผู้เสียชีวิตของปีที่ผ่านมาอยู่ที่กว่า 1.58 ล้านราย ซึ่งทุบสถิติสูงที่สุดในช่วงเวลาหลังเกิดสงคราม

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีอัตราการตายสูงกว่ายอดการเกิดใหม่ของประชาชนมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ ซึ่งเป็นปัญหาที่หนักอึ้งต่อผู้นำประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

ประชากรของญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจของประเทศเฟื่องฟูในช่วงยุค 80 และในปี 2021 ญี่ปุ่นมีประชากรอยู่ที่ 125.5 ล้านคน อ้างอิงข้อมูลตัวเลขล่าสุดของรัฐบาล โดยอัตราการเกิดของญี่ปุ่น ซึ่งอยู่ที่ 1.3 นั้น ต่ำกว่าความคาดหวังของอัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ 2.1 อย่างมาก โดยการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาจำนวนประชากรให้มีคงที่ ในกรณีที่ไม่มีการย้ายถิ่นฐานของชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศ

อีกทั้ง ญี่ปุ่นยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรมีอายุขัยมากที่สุดในโลก โดยในปี 2020 ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า สามารถพบคนญี่ปุ่นที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป ได้ในอัตราส่วนเกือบ 1 ใน 1,500 คน

แนวโน้มที่น่ากังวลเหล่านี้ ทำให้ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ออกมาเตือนในเดือนมกราคม ว่าญี่ปุ่นใกล้เข้าสู่ภาวะอันตรายที่จะไม่สามารถรักษาการทำหน้าที่ทางสังคมได้

“เมื่อคำนึงถึงความยั่งยืนและความครอบคลุมทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พวกเรากำหนดให้การสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตร เป็นนโยบายที่สำคัญที่สุดของพวกเรา” นายคิชิดะกล่าว และเสริมว่า ญี่ปุ่นไม่สามารถรีรอที่จะแก้ปัญหานี้ได้อีกต่อไปแล้ว

นายคิชิดะยังกล่าวเมื่อเดือนมกราคมว่า จะมีการก่อตั้งหน่วยงานรัฐแห่งใหม่ขึ้นในเดือนเมษายน เพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว พร้อมเสริมว่า ตนต้องการให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายต่อโครงการที่เกี่ยวข้องกับเด็กเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ดี การเพิ่มเงินสนับสนุนเพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน และเชื่อมโยงกับปัจจัยทางสังคมจำนวนมากที่ทำให้เกิดอัตราการเกิดต่ำนี้

การที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาค่าครองชีพสูง พื้นที่จำกัด และการขาดแคลนศูนย์บริการดูแลเด็กในเมืองต่าง ๆ ทำให้การเลี้ยงดูบุตรเป็นเรื่องยาก และหมายความว่า ผู้คนตัดสินใจมีบุตรน้อยลง โดยในปี 2022 การวิจัยของสถาบันการเงิน Jefferies ระบุว่า ญี่ปุ่นขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของประเทศที่มีค่าเลี้ยงดูบุตรแพงที่สุดในโลก สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ชะงักงันตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990

ขณะที่ทัศนคติต่อการแต่งงานและการเริ่มต้นสร้างครอบครัวในญี่ปุ่น ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยคู่รักชาวญี่ปุ่นชะลอเป้าหมายในชีวิตทั้ง 2 ออกไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนคนรุ่นใหม่ก็มีความรู้สึกสิ้นหวังกับอนาคตมากขึ้น


ที่มา : https://www.matichon.co.th/foreign/news_3850084