สวธ.จัดโครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ 'ศิลปินแห่งชาติสืบสานศิลป์' จุดประกายศิลปินรุ่นใหม่ ต่อยอดภูมิปัญญาพัฒนามรดกศิลป์ถิ่นล้านนา

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย จัดกิจกรรมถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ ๓ สาขา 'ศิลปินแห่งชาติสืบสานศิลป์' ถ่ายทอดประสบการณ์ สืบสานองค์ความรู้ จากศิลปินแห่งชาติสู่เยาวชน ปั้นศิลปินรุ่นใหม่ต่อยอดศิลปวัฒนธรรมของชาติ ระหว่างวันที่ ๒๗-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ โดยมีนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธาน คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม พร้อมคณะกรรมการกองทุนฯ  ศิลปินแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิ หัวหน้าส่วนราชการ โดย รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ มีคณาจารย์ เด็กนักเรียนและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรมเปิดประสบการณ์เรียนรู้งานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติอย่างอบอุ่น 

วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ นายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กล่าวว่า โครงการถ่ายทอดงานศิลป์กับศิลปินแห่งชาติ นี้ มีความสำคัญในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมงานศิลปะและวัฒนธรรมไปสู่เยาวชน และผู้ที่สนใจในส่วนภูมิภาค  โดยศิลปินแห่งชาติ ได้ให้ความกรุณาอุทิศตนและเสียสละเวลามาถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อฝึกฝนและสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาทักษะในงานศิลปะ ทั้งด้านทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง ให้แก่ นักเรียน เยาวชน ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ โดยภายในงานยังมีการจัดแสดงผลงานฝีพระหัตถ์ของ อัครศิลปิน วิศิษฏศิลปิน และผลงานศิลปะของศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชน และประชาชนในส่วนภูมิภาค ได้สัมผัสกับผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าที่จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะต่อไป

กิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายทางวัฒนธรรม ให้การสนับสนุนการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย สมาคมขัวศิลปะ  โรงเรียนและสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย ทั้งยังได้รับเกียรติจากศิลปินแห่งชาติ จำนวน ๑๓ ท่าน 
นำผลงานมาจัดแสดง และเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ในการสร้างสรรค์งานศิลป์ ประกอบด้วย ฐานการเรียนรู้ รวม ๙ ฐาน ดังนี้  ฐานที่ ๑ เทคนิคจิตรกรรมและสื่อผสม นายธงชัย รักปทุม  ฐานที่ ๒ เทคนิคสร้างสรรค์ภาพพิมพ์ ดร.กมล ทัศนาญชลี  ฐานที่ ๓ เทคนิคประติมากรรม นายศราวุธ ดวงจำปา  ฐานที่ ๔ เทคนิคสถาปัตยกรรม นางสาววนิดา พึ่งสุนทร  ฐานที่ ๕ เทคนิคศิลปะผ่านเลนส์ ได้แก่ นายวรนันทน์ ชัชวาลทิพากร 

นางวรรณี ชัชวาลทิพากร  ฐานที่ ๖ การสร้างสรรค์งานวรรณศิลป์ โดยศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คือ นายเจริญ มาลาโรจน์ (มาลา คำจันทร์) นางชมัยภร บางคมบาง (ชมัยภร แสงกระจ่าง) และ นายพิบูลศักดิ์ ลครพล ฐานที่ ๗ การสร้างงานศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) โดยนางรัจนา พวงประยงค์ และว่าที่ร้อยตรีภัทรกฤษณ์ พุ่มพิพัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ฐานที่ ๘ การสร้างงานศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์พื้นถิ่นล้านนา) นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์  พร้อมผู้ช่วยศาสตราจารย์รัตนะ ตาแปง ผู้ทรงคุณวุฒิ  และ ฐานที่ ๙ การสร้างงานศิลปะการแสดง (ดนตรี ขับร้อง ประพันธ์เพลง) โดย นายประยงค์ ชื่นเย็น พร้อมด้วย นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์        

โครงการถ่ายทอดงานศิลปินแห่งชาติ ถือเป็นโครงการที่เปิดโอกาสดี ๆ ให้น้อง ๆ เยาวชน ผู้รักงานศิลปะ ในส่วนภูมิภาคของประเทศไทย ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เทคนิค วิธีการต่าง ๆ จากบรรดาศิลปินแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิอย่างใกล้ชิด ถือเป็นการจุดประกายสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนนำไปต่อยอดสร้างสรรค์งานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนได้ 


ที่มา : เจนกิจ นัดไธสง