'คูหาไม่ปิดลับ' จุดจบการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และ '16 ล้านเสียง' เหลือเพียงแค่วาทกรรม

ย้อนกลับไปในช่วงที่ 'ทักษิณ ชินวัตร' และพรรคไทยรักไทย กลับมาครองอำนาจบริหารประเทศ ในสมัยที่ 2 หลังการเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ ปี 2548  รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้นกว่าสมัยแรก ด้วยการเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ที่กุมจำนวน ส.ส. ในสภาถึง 376 เสียง 

แต่ความแข็งแกร่งของรัฐบาลกลับถูกสั่นคลอน เมื่อมีการก่อตัวของมวลชนกลุ่มหนึ่งที่ออกมาประท้วง และเริ่มขยายตัวจนเกิดเป็น 'พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย' ยิ่งเกิดกรณีขายหุ้นชินคอร์ปให้กับกลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์โดยไม่เสียภาษี ความขัดแย้งก็ยิ่งบานปลาย กระทั่ง 'ทักษิณ ชินวัตร' นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 2 เมษายน 2549 แต่อีก 3 พรรคการเมือง คือประชาธิปัตย์  ชาติไทย และมหาชน ประกาศ 'บอยคอต' ไม่ลงเลือกตั้ง 

แต่การเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ยังคงเดินหน้า โดยมีเฉพาะพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็ก ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และในเขตที่พรรคไทยรักไทยไร้คู่แข่ง จะต้องได้คะแนนเสียง มากกว่า 20% ของผู้มาใช้สิทธิ จึงจะได้รับเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งขณะนั้นซึ่งมี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ได้ออกระเบียบการเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 'หันหน้าเข้าคูหา' ทำให้ผู้ที่อยู่ภายนอกสามารถเห็นว่าผู้ใช้สิทธิกาเลือกผู้สมัครหมายเลขใด ทำให้ต่อมามีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการเลือกตั้ง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

8 พฤษภาคม 2549 รัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในการเลือกตั้ง 2 เมษายน เป็นโมฆะ เนื่องจาก 2 เหตุผล คือ 1. การกำหนดวันเลือกตั้งไม่ถูกต้อง และไม่เที่ยงธรรม เพราะวันเลือกตั้งที่ถูกกำหนดขึ้นนั้น ห่างจากการยุบสภาเพียง 35 วัน และ 2. 'คูหาไม่ปิดลับ' เนื่องจาก กกต.กำหนดการจัดคูหาในลักษณะที่บุคคลภายนอกสามารถสังเกตเห็นได้ว่าผู้เลือกตั้งใช้สิทธิเลือกตั้งหมายเลขใด

ขณะที่ กรรมการการเลือกตั้ง 3 ใน 4 คน ที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น คือ พล.ต.อ.วาสนา  เพิ่มลาภ , นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ก่อนจะมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 แต่สุดท้ายก็ไม่เกิดขึ้นเนื่องจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน ขึ้นเสียก่อน 

บทสรุปของการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 29 ล้านเสียง โดยพรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียง 16.43 ล้านเสียง ซึ่งเกิน 50% ของผู้มาใช้สิทธิ แต่ในท้ายที่สุดเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ '16 ล้านเสียง' จึงกลายเป็นเพียงแค่วาทกรรม อ้างอิงตัวเลขเสียงสนับสนุนของพรรคไทยรักไทย ในช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมืองหลังจากนั้น