ย้อนตำนานวีรกรรม 'ฉีกบัตรเลือกตั้ง'

ในวันเลือกตั้งแต่ละครั้ง หนึ่งในเหตุการณ์ที่มักจะพบเจอได้อยู่เป็นประจำ นั่นคือ 'การฉีกบัตรเลือกตั้ง' ซึ่งตามกฎหมายแล้ว มีโทษปรับ จำคุก และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนใหญ่จะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือทำโดยจงใจเพื่อต้องการแสดงออกทางการเมือง

ภาพจำการฉีกบัตรเลือกตั้งที่ถูกพูดถึงอย่างมาก ต้องย้อนความไปถึงบรรยากาศการเมืองในช่วงต้นปี 2549 ที่เริ่มขมึงเกลียว เมื่อ 'ทักษิณ ชินวัตร' นายกรัฐมนตรีขณะนั้นประกาศยุบสภา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ หลังถูกกล่าวหากรณีครอบครัวทำการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปโดยเลี่ยงภาษี  

และเมื่อทั้งวุฒิสภาและศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องเพื่อพิจารณา  ฝ่ายค้านจึงขอยื่นอภิปรายทั่วไป เพื่อขอให้ตอบซักถามต่อสาธารณะ แต่ 'ทักษิณ' ปฏิเสธด้วยการเลือกยุบสภา ก่อนประกาศเลือกตั้ง วันที่ 2 เมษายน 2549

บรรยากาศการเมืองตึงเครียดมากขึ้น เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศ 'บอยคอต' ไม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตัั้ง และมีการรณรงค์ให้ 'โนโหวต' แสดงออกต่อการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม  

แต่สำหรับ 'รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร' หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯในขณะนั้น  กลับเลือกวิธีการ 'อารยะขัดขืน' ในรูปแบบที่ต่างไป โดยช่วงสายของวันที่ 2 เมษายน 2549 รศ.ไชยันต์ ไชยพร เดินทางไปที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เพื่อใช้สิทธิ ที่หน่วยลือกตั้งที่ 62 เขตสวนหลวง

หลังจากเดินเข้าคูหาและกาช่องไม่เลือกใคร เจ้าตัวได้ถือบัตรเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ ออกมา ประกาศว่าขอทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก่อนจะ 'ฉีกบัตรเลือกตั้ง' ต่อหน้าสื่อมวลชน และผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจ

จากนั้น อาจารย์ไชยันต์ ได้อ่านแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลที่กระทำการดังกล่าว ก่อนเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ประเวศจะเชิญตัวไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนฐานกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 108 ซึ่งมีโทษจำคุก 1 ปี  ปรับ 20,000 บาทและถูกเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง 5 ปี

บทสรุปของการพิจารณาคดีนี้ กินเวลานานกว่า 4 ปี ตั้งแต่ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ต่อมาศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษา ปรับเงิน 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา และตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี กระทั่งการพิจารณาคดีสิ้นสุดลง ในวันที่ 29 ตุลาคม 2553 เมื่อศาลจังหวัดพระโขนงมีคำพิพากษายกฟ้อง โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุการเลือกตั้งปี 2549 ไม่ชอบธรรม การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิด 

สำหรับฐานความผิด และการกำหนดโทษ กรณี 'ฉีกบัตรเลือกตั้ง' ปัจจุบันเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 144 ที่ระบุไว้ว่า ผู้ใดจงใจกระทําด้วยประการใด ๆ ให้บัตรเลือกตั้งชํารุด หรือเสียหาย หรือ ให้เป็นบัตรเสีย หรือ กระทําด้วยประการใด ๆ แก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกําหนด 10 ปี

และถ้ายิ่งผู้กระทําความผิดเป็นเจ้าพนักงานผู้ดําเนินการเลือกตั้ง มีโทษจําคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000- 200,000 บาท และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี

การฉีกบัตรเลือกตั้ง เพื่อแสดงออกทางการเมือง เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ที่ผ่านมาเกิดขึ้นหลายกรณี และมีบทสรุปของแต่ละคดีแตกต่างกันไป แม้จะเป็นการแสดงออกถึงการอารยะขัดขืน แต่สิ่งสำคัญคือ ผู้ที่คิดจะกระทำการต้องตระหนัก ต้องพร้อมรับผลทางกฎหมาย ที่จะตามมาจากการกระทำด้วยเช่นกัน