ย้อนเวลา 'เลือกตั้ง 2562' กับเรื่องราวที่เป็น 'ที่สุด'

การเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด เมื่อ 24 มีนาคม 2562 นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่บรรยากาศของประชาธิปไตยในบ้านเรากลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะกับ 'ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก' หรือ 'เฟิร์สไทม์โหวตเตอร์' หรือคนที่เกิดระหว่างปี 2537-2544 มากกว่า 7 ล้านคน นอกจากนั้นแล้ว  การกลับมาของการเลือกตั้งหนนี้ ยังนำพา 'ความพีค' ที่เป็นสถิติใหม่ๆ ในหลายประเด็น มีอะไรบ้าง มาย้อนดูกัน

#จำนวนพรรคการเมืองมากที่สุด!

ถ้าย้อนกลับไปดูบรรยากาศการเมืองก่อนปี 2540 ช่วงนั้นการเมืองไม่นิ่ง พรรคการเมืองขาดเสถียรภาพ เกิดหลากหลายกลุ่มก้อนนักการเมืองต่อรองผลประโยชน์ ส่งผลทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง บริหารงานยาก นำมาซึ่งการปฏิรูปการเมืองผ่านการจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยสร้างกลไกให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง มีพรรคการเมืองน้อย และทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ 

แต่สุดท้ายเกิดปัญหาใหม่ คือพรรคการเมือง และรัฐบาลที่ได้มาหลังการเลือกตั้ง เข้มแข็งจนอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลมีปัญหา เกิดภาวะ 'เผด็จการรัฐสภา' กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองระลอกใหม่ ที่ยืดเยื้อยาวนานต่อเนื่องมานับสิบปี 

ตัดภาพกลับมาที่การเลือกตั้ง 2562 ด้วยระบบการเลือกตั้งแบบ 'จัดสรรปันส่วนผสม' ที่จำกัดจำนวน 'ส.ส.พึงมี' นัยว่าเป็นการถอดบทเรียนจากปัญหาการผูกขาดอำนาจในสภา และเสียงส่วนน้อยกลายเป็นเสียงที่ไร้ความหมายเพราะไม่ถูกนำมาใช้นับคะแนน

ระบบการเลือกตั้ง ปี 2562 จึงทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้สัดส่วนเก้าอี้สอดคล้องกับสัดส่วนที่ควรจะได้  ขณะเดียวกัน บรรดาพรรคเล็กก็จะได้ประโยชน์จากการคิดทุกคะแนนโดยไม่ทิ้งน้ำ เพิ่มโอกาสในการสอบผ่านเข้าสภา ทำให้เกิดการจดจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ เป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. พบว่าวันแรกของการเปิดรับสมัคร ส.ส. เมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2562 มีพรรคการเมืองในสารบบจำนวนถึง 106 พรรค แต่มีเพียง 49 พรรคที่มีคุณสมบัติในการส่งผู้สมัคร กระทั่งเมื่อถึงวันสุดท้ายของการรับสมัคร ส.ส. มีพรรคการเมืองที่มีคุณสมบัติในการส่งผู้สมัคร ส.ส. จำนวนถึง 80 พรรค

และหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 มีพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. เข้าสภามากถึง 27 พรรค  เรียกว่า 'มากที่สุด' ในรอบ 18 ปี นับจากการเลือกตั้ง ปี 2544 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหนแรกหลังมีรัฐธรรมนูญ ปี 40 

#ผู้สมัครส.ส.มากที่สุด! 

ระบบจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้ทุกคะแนนมีความหมาย ส่งผลให้แต่ละพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง พากันส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งให้ได้จำนวนมากที่สุด เพื่อเก็บทุกคะแนนที่ได้รับเลือก มาคำนวณสูตรสัดส่วน ส.ส. พึงมี  

บรรดาพรรคการเมืองใหญ่จะส่งผู้สมัครลงครบ 350 เขต ส่วนพรรคขนาดกลาง และขนาดเล็ก จะพยายามส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งให้ได้มากที่สุด ทำให้การเลือกตั้ง ปี 2562  มีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเกือบ 'หนึ่งหมื่นคน' มากกว่าค่าเฉลี่ยของการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละครั้งจะมีจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เฉลี่ยเพียง 3,000 คนเท่านั้น 

#ยืดเวลากาเลือกผู้แทนนานที่สุด! 

ถ้าพูดถึงช่วงเวลาในการ 'เปิดหีบ' ให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่เคยใช้ในการเลือกตั้งหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา จะอยู่ในช่วงเวลา 7 ชั่วโมง 08.00 - 15.00 น. คือตั้งแต่ 'แปดโมงเช้า ถึง บ่ายสาม' ก็จะถึงเวลาปิดหีบ เริ่มนับคะแนน 

แต่สำหรับการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ได้มีการขยายเวลาเข้าคูหา กาเลือกผู้แทนฯ ออกไปอีก 2 ชั่วโมง เป็นเวลา 08.00 - 17.00 น. หรือ 'แปดโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น' คือ เพิ่มเวลาเปิดหีบเป็น 9 ชั่วโมง  เหตุผลเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางไปใช้สิทธิได้นานขึ้น

อันที่จริงการยืดเวลาใช้สิทธิเลือกตั้งเคยมีมาแล้ว แต่เป็นการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญในปี 2559 ครั้งนั้นขยายเวลาใช้สิทธิถึงแค่ 16.00 น. หรือ 8 ชั่วโมง  ดังนั้นการเลือกตั้งในปี 2562 จึงนับเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกที่มีการยืดเวลาการใช้สิทธิเป็น 9 ชั่วโมง

4 ปีผ่านไป หลังการเลือกตั้ง 2562 ถึงวันนี้ถ้านับตามปฏิทินการเมืองของ กกต. จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในอีกไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้า ขณะนี้ กกต.อยู่ระหว่างการจัดทำ และสรุปเขตเลือกตั้งโดยขอเวลา 1 เดือน  

รูปแบบการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีสถิติใหม่เกิดขึ้นหรือไม่  แต่การเลือกตั้งปี 2562 ได้ถูกบันทึกไปแล้วว่าเป็นการเลือกตั้งที่สร้างความเป็นที่สุดเอาไว้ไม่น้อยเลยทีเดียว