ย้อนรอยพรรคการเมืองที่มี ส.ส.เข้าสภาแบบ 'ที่นั่งเดียว'

ถ้าใครยังจำกันได้ 'เลือกตั้ง 2562' นำพาความเปลี่ยนแปลงและสร้างสถิติใหม่ขึ้นหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือการใช้ระบบ 'จัดสรรปันส่วนผสม' ที่ใช้บัตรเลือกตั้งเพียง 1 ใบเลือกทั้ง ส.ส. เขต จำนวน 350 คน และบัญชีรายชื่ออีก 150 คน  บนหลักการให้เสียงส่วนน้อยมีความหมาย ถูกนำมานับเป็นคะแนน เรียกว่า "ไม่ถูกทิ้งน้ำ" โดยการนำทุกคะแนนเสียงเลือกตั้งที่ได้มาคิดคำนวณเพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จากฐานตัวเลข 'ส.ส.พึงมี' ซึ่งอยู่ที่ 71,000 คะแนนเสียง ต่อ 1 เก้าอี้ ส.ส. 

ปรากฎว่ามี  '11พรรคการเมืองขนาดเล็ก' ได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อ 'พรรคละ 1 คน' ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังไทยรักไท, พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคประชานิยม, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม ยกเว้นพรรคพลังชาติไทยที่ได้คะแนนเกินเกณฑ์ ส.ส. พึงมี

1 เสียงในสภาของพรรคเล็กอาจดูไม่ค่อยมีน้ำหนักและความหมายมากนัก แต่ ส.ส. ที่ผ่านเข้าไปหลายคนสามารถสร้างพื้นที่ให้กับตัวเองได้ไม่น้อยเลย THE STATES TIMES หยิบยกเอา ส.ส.เดินเดี่ยว หรืออาจเรียกว่า “ข้ามาคนเดียว” มาบอกเล่ากัน

#ไพบูลย์นิติตะวัน ส.ส. ผู้ "น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า" เข้าสภา 

ชื่อของ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' เริ่มเป็นที่รู้จักในทางการเมือง ในฐานะสว. สรรหา ระหว่างปี 2551-5557  เป็นหนึ่งใน 'กลุ่ม 40 ส.ว.' ตรวจสอบรัฐบาลพรรคพลังประชนและพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะเมื่อเจ้าตัวเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัย อดีตนายกฯ 'ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร' กรณีสั่งย้าย 'ถวิล เปลี่ยนศรี' เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ต่อมา  'ยิ่งลักษณ์' ต้องพ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีตามคำวินิจฉัยของศาล

และเมื่อถึงช่วงเวลานับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2562  ชื่อ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ก็ถูกจับตา เมื่อเขาตั้งพรรค 'ประชาชนปฏิรูป' ลงสู้ศึกเลือกตั้ง ชูนโยบาย  'น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า' แก้ปัญหา 'ทุกข์ร้อน' ให้ประชาชน ส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต 311 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 40 คน 

หลังเลือกตั้ง ปรากฏว่าพรรคประชาชนปฎิรูป ได้ 45,420 คะแนน เป็นอันดับที่ 23 จากทั้งหมด 74 พรรค และเมื่อผ่านคำนวณคะแนนตามสูตร ของ กกต.แล้ว ก็ส่งให้ 'ไพบูลย์'  หัวหน้าพรรค และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 เข้าป้ายเป็น ส.ส. และเป็นหนึ่งใน 11 พรรคเสียงเดียว ที่สนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ จัดตั้งรัฐบาล

ทำหน้าที่ ส.ส. ได้ไม่กี่เดือน ก็ถูกจับจ้องจากฝ่ายค้าน เมื่อเขาตัดสินใจยื่นเรื่องต่อ กกต. ขอเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งต่อมา กกต. ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ ขณะที่ 'ไพบูลย์' ขอย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ทำให้ 60 ส.ส. พรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อร้องประธานสภา ขอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความสถานะความเป็น ส.ส. ซึ่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสถานะ ส.ส. ของเขาไม่สิ้นสุดลงตามพรรคประชาชนปฏิรูปไปด้วย 

ปัจจุบัน 'ไพบูลย์' ยังคงอยู่ในสถานะส.ส. บัญชีรายชื่อและถือเป็นหนึ่งในหัวหมู่ทะลวงฟันคนสำคัญของของพรรคพลังประชารัฐ

#เต้-มงคลกิตติ์ ส.ส. สีสัน "นักสร้างประเด็น" ในสภา

ชื่อของ เต้-มงคลกิตติ์  สุขสินธารานนท์ เป็นที่รู้จักจากการออกมาเคลื่อนไหว แสดงความเห็นในประเด็นต่าง ๆ รวมถึงสร้างกระแสในสังคมหลายครั้ง ก่อนที่เขาจะประกาศลงเลือกตั้ง ในฐานะหัวหน้าพรรค 'พรรคไทยศรีวิไลย์' 

มงคลกิตติ์ เป็นหนึ่งเดียวจากพรรคไทยศรีวิไลย์ที่ได้ผ่านเข้าไปเป็น ส.ส. ในสภา และแน่นอนว่าตั้งแต่วันแรกๆ ของการทำหน้าที่ เขาเริ่มทำให้เห็นภาพ ส.ส.คนขยัน แต่เป็นเรื่องของการขยัน 'สร้างประเด็น' ในสภา 

ยังไม่ทันทำหน้าที่ เมื่อวันที่ ส.ส. เดินทางมาที่สภาเพื่อเตรียมขึ้นรถบัสไปร่วมพิธีเปิดประชุมสภา ก็ปรากฏภาพขณะที่ 'วัน อยู่บำรุง' ส.ส.ป้ายแดงจากพรรคเพื่อไทย กำลังพูดคุยกับผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดี ก่อนที่ 'พี่เต้' จะเดินปรี่เข้ามาขอจับมือ แต่กลับถูกเจ้าของวลี "ใจถึงพี่งได้" ปฏิเสธด้วยประโยคสั้นๆ "ไม่ต้องจับหรอก" ก่อนเดินจากไปดื้อ ๆ ทำเอา ส.ส.เต้ ต้องแก้เก้อ เดินแยกย้ายไปแบบเสียฟอร์ม

ทำหน้าที่ในสภาเพียงไม่กี่เดือน 13 สิงหาคม 2562  'เต้ มงคลกิตติ์' ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ก็ออกออกแถลงการณ์จุดยืนทางการเมืองของพรรคและเหตุผลในการ 'ถอนตัว' จากฝ่ายรัฐบาลมาเป็น 'ฝ่ายค้านอิสระ' ยืนข้างประชาชนโดยให้เหตุผลว่าผู้ใหญ่ในพรรคร่วมรัฐบาลไม่รักษาสัจจะและไม่ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาร่วมกัน 

หลังจากนั้น 'พี่เต้' ก็จัดเรื่องปัง ๆ ตามมาอีกหลายดอก ไม่ว่าจะเป็นการตามปะทะคารมอย่างรุนแรงกับ'"สิระ เจนจาคะ' ส.ส.พลังประชารัฐในขณะนั้น ที่ออกมาปกป้อง 'นายกลุงตู่' จากการวิพากษ์วิจารณ์ของเขา หรือกรณีที่เจ้าตัว ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการทหาร สภาผู้แทนราษฎร ประสานเจ้าหน้าที่ EOD นำระเบิด TNT เข้าสภาโดยอ้างว่าเป็นการทดสอบระบบความปลอดภัย จนถูกตั้งคำถามว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิดฐานพกพาสารระเบิดเข้าไปในบริเวณรัฐสภาหรือไม่ ร้อนถึง พณฯ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาต้องลงมาตรวจสอบ

หรือแม้แต่คดีการเสียชีวิตของ 'แตงโม นิดา' ที่เจ้าตัวประกาศเดินหน้าตั้งทีมเฉพาะกิจพิสูจน์ความจริงเพื่อเรียกคืนความเป็นธรรมให้แตงโมและแม่ ซึ่งต่อมามีการยื่นเรื่องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ตรวจสอบจริยธรรมการเป็น ส.ส. จนปรากฏภาพ 'พี่เต้' ออกมาแถลงข่าวด้วยเสียงสั่นเครือ ถอดบัตรประจำตัว ส.ส. พร้อมกล่าวว่า หากไม่สามารถคุ้มครองแม่ของแตงโมได้ ตนก็ไม่มีหน้าจะเป็น ส.ส. และคนอย่างตนเองหากคิดจะสู้ ไม่กลัวอะไรอยู่แล้ว แต่แล้วในที่สุด เรื่องนี้ก็จบลงที่เจ้าตัวประกาศถอนตัวจากการทำคดี 100% ทั้งหมดเป็น 'วีรกรรม' ที่ 'เต้ มงคลกิตติ์' จัดให้จนกลายเป็น 'ดาวฉายแสง' ที่ใครๆ ก็จดจำ

#ระวี มาศฉมาดล หมอนักเคลื่อนไหว สู่บทบาท "น้อยแต่มาก" ในสภา 

นายแพทย์ระวี  มาศฉมาดล ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนิสิตแพทย์ในยุคตุลา 16 และ 19  นอกจากวิชาชีพแพทย์แล้วยังทำงานทางการเมืองคู่ขนานมาตลอด เช่น ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคพลังธรรม ร่วมงานกับพรรคการเมืองใหม่ และยังเป็นหนึ่งในแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนกระทั่งมาก่อตั้งพรรคพลังธรรมใหม่ และลงเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าพรรคและผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 จนได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในฐานะส.ส. เป็นสมัยแรกจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

บทบาทของหมอระวีในสภา แทบไม่ปรากฏภาพของการต่อรองหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่กลับสะท้อนออกมาจากบทบาทการปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร

ยกตัวอย่างในช่วงเวลาที่มีการพิจารณายกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิด คือพาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเสต โจทย์ยากอยู่ที่ความแตกต่างของนโยบายพรรคร่วมรัฐบาล ความเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ผลประโยชน์มหาศาลของบรรษัทสารเคมีข้ามชาติ รวมถึงคำถามสำคัญว่า ถ้ายกเลิกแล้วจะมีสารทดแทนและทางออกให้เกษตรกรอย่างไร ทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายจบลงไม่ง่าย

ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร เขาเสนอต่อสภา ให้พรรคร่วมรัฐบาลหันมาพูดคุยหาข้อสรุปที่ชัดเจน ตั้งคณะกรรมการเพื่อหาความจริงจากการวิจัยผลกระทบให้รอบด้าน และเสนอให้รัฐบาลกำหนด 'เกษตรอินทรีย์' เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเดินหน้ายกเลิกสารเคมี 3 ชนิดให้เกิดรูปธรรม ลดความขัดแย้ง 

'หมอระวี' ยังพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นร่าง พ.ร.บ. สร้างเสริมสังคมสันติสุข โดยนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2549 ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ไม่รวมความผิดฐานทุจริต การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือเป็นการกระทำที่ส่งผลให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เพื่อลดความขัดแย้งและสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ

ทั้งหมดเป็น 3 ส.ส. ที่เดินหน้าเข้าสภาแบบเดี่ยวๆ แต่สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า จะมีการปรับระบบกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โอกาสที่ ส.ส. หนึ่งเดียวจากพรรคเล็กจะเข้ามามีบทบาทใสสภาเหมือนในการเลือกตั้งปี 2562 เรียกว่าแทบจะปิดประตู 

ดังนั้นปรากฏการณ์ ส.ส. เดินเดี่ยวเข้าสภาจากการเลือกตั้ง 2562 แม้ว่าจะถูกตั้งคำถาม แต่ก็เป็นหนึ่งในการเปิดพื้นที่ให้ส.ส.หน้าใหม่ เข้ามามีบทบาท หรือ อย่างน้อยก็สร้างสีสีสันในสภาได้ไม่น้อย