‘เสี่ยเฮ้ง’ สั่งตรวจเข้ม ‘ต่างชาติแย่งอาชีพคนไทย’ ย้ำ!! ตรวจเจอ จับดำเนินคดี ไม่มีข้อยกเว้น

(14 ก.พ. 66) นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงคนไทยถูกแรงงานต่างชาติแย่งงาน แย่งอาชีพ จึงสั่งการให้กระทรวงแรงงานบริหารจัดการแรงงานต่างชาติในประเทศไทยอย่างรอบคอบ เป็นระบบ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานต่างชาติที่แย่งอาชีพคนไทย ซึ่งตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานไม่เคยนิ่งนอนใจ ได้กำชับให้กรมการจัดหางานติดตามตรวจสอบและดำเนินคดีแรงงานต่างชาติที่ทำงานผิดกฎหมายหรือแย่งอาชีพคนไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 13 กุมภาพันธ์ 2566 มีการเข้าตรวจสอบสถานประกอบการที่จ้างแรงงานต่างชาติทั่วประเทศแล้ว จำนวน 14,104 แห่ง ดำเนินคดี 500 แห่ง และตรวจสอบคนต่างชาติ จำนวน 196,402 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 145,764 คน, กัมพูชา 32,916 คน, ลาว 10,181 คน, เวียดนาม 103 คน และสัญชาติอื่น ๆ 7,438 คน มีการดำเนินคดีทั้งสิ้น 1,143 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 629 คน, กัมพูชา 175 คน, ลาว 187 คน, เวียดนาม 49 คน, และสัญชาติอื่น ๆ 103 คน ซึ่งพบเป็นการแย่งอาชีพคนไทย ทั้งสิ้น 600 คน แยกเป็นสัญชาติเมียนมา 264 คน, กัมพูชา 121 คน, ลาว 97 คน, เวียดนาม 39 คน, อินเดีย 51 คน และสัญชาติอื่น ๆ 28 คน โดยอาชีพที่พบคนต่างชาติแย่งอาชีพมากที่สุด ได้แก่ งานเร่ขายสินค้า งานตัดผม งานขับขี่ยานพาหนะ และงานนวด ตามลำดับ

“พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุว่า คนต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือสิทธิที่จะทำได้ มีโทษปรับตั้งแต่ 5,000 - 50,000 บาท และนายจ้าง/สถานประกอบการ ที่รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานเข้าทำงาน หรือให้คนต่างด้าวทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 - 100,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 - 200,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งกระทรวงแรงงานจะดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดโดยไม่มีข้อยกเว้น” รมว.แรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ มีทั้งสิ้น 40 งาน เป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำเด็ดขาด 27 งาน ตามบัญชีที่ 1 ได้แก่ 
1.งานแกะสลักไม้ 
2.งานขับขี่ยานยนต์ ยกเว้นงานขับรถยก (Forklift) 
3.งานขายทอดตลาด 
4.งานเจียระไนเพชร/พลอย 
5.งานตัดผม/เสริมสวย 
6.งานทอผ้าด้วยมือ 
7.งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ฟาง ไม้ไผ่ ขนไก่ เส้นใย ฯลฯ 
8.งานทำกระดาษสาด้วยมือ 
9.งานทำเครื่องเขิน 
10.งานทำเครื่องดนตรีไทย 
11.งานทำเครื่องถม 
12.งานทำเครื่องทอง/เงิน/นาก 
13.งานทำเครื่องลงหิน 
14.งานทำตุ๊กตาไทย 
15.งานทำบาตร 
16.งานทำผ้าไหมด้วยมือ 
17.งานทำพระพุทธรูป 
18.ทำร่มกระดาษ/ผ้า 
19.งานนายหน้า/ตัวแทน 
20.งานนวดไทย
21.งานมวนบุหรี่ 
22.งานมัคคุเทศก์ 
23.งานเร่ขายสินค้า 
24.งานเรียงอักษร 
25.งานสาวบิดเกลียวไหม 
26.งานเลขานุการ 
และ 27.งานบริการทางกฎหมาย 

และงานที่ให้คนต่างด้าวทำได้โดยมีเงื่อนไข 13 งาน ตามบัญชีที่ 2 ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำได้ ตามบัญชี 3 ได้แก่ 

1.งานกสิกรรม 
2.งานช่างก่ออิฐ/ช่างไม้/ช่างก่อสร้างอาคาร 
3.งานทำที่นอน
4.งานทำมีด 
5.งานทำรองเท้า 
6.งานทำหมวก 
7.งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 
8.งานปั้นเครื่องดินเผา

โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง และตามบัญชีที่ 4 ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน โดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) 

“ทั้งนี้ ผู้ที่พบเห็นการจ้างคนต่างชาติทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องทุกข์ได้ที่ กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน อาคารกระทรวงแรงงานชั้น 4 โทร. 02 354 1729 หรือ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือ ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน” อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว