หากประเทศไทย ไร้ผู้นำที่ชื่อ ‘พลเอกประยุทธ์’ และขาดซึ่ง ‘หมอ’ หลากยุทธ์ ผู้กลบเสียงเห่า ‘หมา’
หากเปรียบในทางพุทธศาสนาที่องค์พระสมณะพุทธโคดมเคยทรงตรัสไว้ว่า "ผู้ใดอยากพ้นทุกข์ทั้งปวง ให้ปฏิบัติตาม ‘มรรค 8’ หรือ ‘หนทางสู่ความดับทุกข์ทั้งแปดประการ’ นี้เถิด"
เฉกเช่นเดียวกันกับ ‘สถานการณ์โควิด 19’ ที่วันนี้ได้คลี่คลายลง ก็ด้วยหนทางพ้นทุกข์ภัยทั้ง 8 เช่นกัน
สำหรับวันนี้ 1 ใน 8 ที่อยากจะชวนกลับไปนึกถึง ซึ่งทำให้ไทยพ้นทุกข์จากพิษภัยโควิด หรือจะบอกว่า ‘ไทยรอดได้อย่างไรนั้น’ คือ ‘วิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ’
นับแต่ข่าวแพร่ระบาดของ 'ไวรัสอู่ฮั่น' ซึ่งต่อมาคือ 'Corona Virus 2019' (โควิด-19) บนแผ่นดินสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองอู่ฮั่น กระเซ็นกระสายออกมาว่า เกิดการติดเชื้อจาก 'ค้างคาว' แพร่สู่มนุษย์ จากคนสู่คน จนลุกลามขยายกลายเป็นวงกว้าง และเริ่มระบาดไปยังอีกหลายประเทศ ข่าวนี้ก็สร้างความวิตกกังวลทั่วทั้งโลก รวมถึงบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างไทย
จากเดิมแค่วิตกกังวล กลายเป็นความประหวั่นพรั่นพรึงทันทีที่ประเทศไทยพบเชื้อครั้งแรก ตอนต้นเดือนมกราคม 2563 โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น โดยต่อมาอีกราวสองสัปดาห์ก็พบ 'ผู้ติดเชื้อชาวไทยคนแรก' คือ คนขับรถแท็กซี่วัยห้าสิบปี ผู้เป็นสารถีรับส่งหญิงชาวจีนคนนั้นนั่นเอง ท้ายที่สุดการแพร่เชื้อดังกล่าว คือต้นตอติดเชื้ออีกหลายพื้นที่ จนเกิดคลัสเตอร์จุดสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน และชุมชนแรงงานมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร
บรรยากาศหวาดวิตก เดินสู่ความหวาดหวั่น ที่สุดไทยทั้งประเทศก็จำต้องพานพบกับความมืดมนอนธการอย่างยาวนานเกินกว่า 1,000 ราตรี ภายใต้กรงเล็บทะมึนชื่อ 'โควิด 19' เชื้อร้ายไร้ปรานีผู้ไม่เลือกชนชั้นวรรณะ
ขณะนั้น วิสัยทัศน์ของผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดต่อเหตุการณ์ตรงหน้า ซึ่งเกิดพร้อมกันไล่เลียงจนครบทุกประเทศบนโลก โดยอดคิดไม่ได้ว่า หากเรามีผู้นำคนอื่นที่มิใช่ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา' บ้านเมืองอาจมีสภาพไม่ต่างจากบราซิล, อินเดีย หรือสหรัฐอเมริกา ก็เป็นได้
แน่นอนว่าพลเอกประยุทธ์มิใช่อัศวินขี่ม้าขาว ควงปืนไล่ล่าเชื้อโรคจนกระเจิงหาย แต่สิ่งที่นายกรัฐมนตรีลงมือทำทันทีคือการมอบความไว้วางใจให้ 'หมอ' ขึ้นเป็นแม่ทัพสงครามต่อกรโรคระบาด โดยท่านเลือกนั่งบังคับบัญชาภาพรวมเพื่อตัดสินใจ หลังรับข้อมูลสาธารณสุขครบถ้วนทุกด้าน มาตรการมากมายหลายเรื่องถูกกลั่นจากสมองขุนพลคณะแพทย์ผู้อาสารบภายใต้นาม 'ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)' วันแล้ววันเล่า ทั้งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงแผนระยะยาว โดยมีชีวิตคนไทยกว่า 67 ล้านคนเป็นประกัน
แม้ช่วงแรกของศึกจะมีการสร้างวาทกรรมเพื่อลดความน่าเชื่อถือ เพียงหวังผลทางการเมือง และประโยชน์ทางธุรกิจ จากบางกลุ่ม แต่สุดท้ายคนไทยส่วนใหญ่ก็พร้อมใจปฏิบัติตามกฎควบคุมโรคของรัฐบาล ตั้งแต่มาตรการเคอร์ฟิว สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ จนถึงแนวคิด 'Work From Home'
เพราะ 'เชื่อหมอ - ไม่เชื่อหมา' วลีเดียว
นี่ไม่ใช่การกล่าวเพียงหาลอย ๆ เพราะรายงาน ‘คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ’ (ICRC) ยังระบุตอนหนึ่งว่า “...เราได้รับรายงานเกี่ยวกับการทำร้ายบุคลากรทางการแพทย์ อันเนื่องมาจากความเข้าใจผิด และมีการตีตราทางสังคม บ้างกลัวว่าจะเป็นผู้แพร่เชื้อ ในบางพื้นที่ลือว่าหมอและพยาบาลฉีดยาอันตรายให้ผู้ป่วยโควิด-19 จนสร้างความเกลียดชังที่นำไปสู่การทำร้ายและกีดกันเจ้าหน้าที่”
และ “...ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกรกฎาคม 2020 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ได้รับรายงานเกี่ยวกับความรุนแรงต่อบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 มากถึง 611 ครั้ง สูงกว่าปกติถึง 50%”
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ กับ ศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา เข้าใจเรื่องดังกล่าวดี จากประสบการณ์ตรง จนทุกวันนี้ยังไม่มีใครกล่าวคำขอโทษจากที่เคยโจมตี - ด้อยค่ามันสมองบรมครูแพทย์ทั้งสองแม้ข้อความเดียว
จริงอยู่ที่คาดการณ์ของแพทย์แถลงว่า ‘โควิด -19’ จะลดการกระจายเป็นบางช่วง แต่ก็จะยังคงอยู่ และแพร่ระบาดตามฤดูกาล ซึ่งประเทศไทยได้ปรับมาตรการผ่อนคลาย เมื่อการระบาดลดลง และปรับจาก ‘โรคติดต่อร้ายแรง’ สู่ ‘โรคต้องเฝ้าระวัง’ หลังพบว่าประชากรไทยติดเชื้อราว 60 - 70% ของจำนวนประชากรแล้ว
"...ด้วยความเสียสละอย่างมหาศาล อดทนเจอกับความยากลำบากในการทำมาหากิน สูญเสียรายได้ สูญเสียเงินเก็บ ธุรกิจพัง สิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่พวกเราแลกไป เพื่อรักษาชีวิตของพ่อ แม่ พี่ น้อง และเพื่อนของเราเอาไว้ ให้พวกเขายังคงอยู่กับเราในวันนี้" - คือส่วนหนึ่งของแถลงการณ์เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2564 โดย ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ผู้นำประเทศพ้นวิกฤต จนพบกับความสุข สดใส กาววาว เช่นวันนี้