ปูมหลัง ‘มวยไทย - เลธเหว่ย - กุน ขแมร์’ ศาสตร์การต่อสู้ ที่มิคู่ควรข้องความร้าวฉาน

นาทีนี้คงไม่มีใครไม่พูดถึงเรื่องของ ‘กุน ขแมร์’ ที่กำลังเป็นประเด็นเรื่องการบรรจุกีฬานี้เข้าไปในการแข่งขันซีเกมส์ ซึ่งในอดีต ‘ชินลง’ หรือ ‘ตะกร้อวง’ ก็เคยบรรจุในกีฬาซีเกมส์มาก่อน ในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่กรุงเนปิดอว์ในปี 2013 ซึ่งครั้งนั้นก็ไม่ได้มีประเด็นอะไร และเอาเข้าจริง ๆ ‘กุน ขแมร์’ ที่เป็นดรามากันในวันนี้ ก็มิน่าจะมีประเด็นอันใดแตกต่างจากในอดีต ส่วนเหตุที่เอย่าได้กล่าวเช่นนั้น ก็เพราะมีอีกมุมมองมานำเสนอให้ทราบกัน

เลธเหว่ยหรือมวยคาดเชือกพม่านั้น ผู้ชกจะไม่สวมนวม แต่จะพันผ้าแบบสไตล์มวยคาดเชือกแทน ส่วนการชกนั้นสามารถออกอาวุธได้ทั้งศอก เข่า เท้าเตะ และใช้หัวโขก รวมถึงการจับคู่ต่อสู้เหวี่ยงหรือทุ่มได้ ในการชกแข่งขันจะแบ่งเป็น 5 ยก ยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที

ส่วนมวยไทยนั้นได้ชื่อว่าเป็นศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า ซึ่งบางตำราอาจเป็น นวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือ ทศอาวุธ ซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตีด้วย แต่ในการแข่งขันปัจจุบัน นักมวยจะสวมนวมในการชกและห้ามใช้ศีรษะในการชกเพราะอันตรายเกินไปส่วนกติกาการชกก็เป็น 5 ยก ยกละ 3 นาที พัก 2 นาทีเช่นกัน

ขณะที่มวยเขมรนั้น มี 2 ชนิดที่เป็นที่รู้จักกันตอนนี้มี 2 ชนิดคือ โบกาตอร์ หรือ Bokator เป็นภาษาถิ่นแปลว่า ‘ทุบสิงโต’ เป็นมวยเขมรรุ่นเฉพาะที่ได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีลักษณะการต่อสู้แบบตัวต่อตัวพร้อมกับการใช้อาวุธอย่างหนัก ศอกและเข่า การเตะหน้าแข้ง และการต่อสู้บนพื้นที่หลากหลาย และจะมีสีรอบเอวเพื่อแสดงถึงระดับของพวกเขา ชั้นแรกเป็นสีขาว ตามด้วยสีเขียว น้ำเงิน แดง น้ำตาล และสุดท้ายเป็นสีดำ 

นอกจากนี้ ยังมีการสวมสายที่เป็นผ้าไหมรอบศีรษะศิลปะชนิดนี้ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม หรือ มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ของยูเนสโกอีกด้วย ส่วนกุน ขแมร์ หรือ KUN KHMER หรือในอีกชื่อหนึ่งที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า Kbach Kun Pradal Khmer ที่แปลว่า ‘การต่อสู้อย่างอิสระ’ มีลักษณะคล้ายกับยูโด แต่ไม่ใช่คาราเต้ เป็นรูปแบบคิกบ็อกซิ่งที่สืบเชื้อสายมาจากเทคนิคการต่อสู้ของเขมรในยุคแรก การต่อสู้มีเป้าหมายคือทำให้คู่ต่อสู้น็อก ทางเทคนิคหรือชนะการแข่งขันด้วยคะแนน ส่วนใหญ่จะใช้ศอกในการน็อก

หากดูจากแนวทางของกีฬาแล้วมีความคล้ายกันมากทั้งการแข่งขันและกติกาจนทำให้เกิดความหมิ่นเหม่สงสัยกับความคล้ายคลึงนี้ สุดท้ายกีฬามวยไม่ว่าจะเป็นมวยไทย เลธเหว่ย หรือ กุนขแมร์ คงไม่สามารถบอกได้เต็มปากว่ารากเหง้านั้นต่างกัน เพราะจากความคล้ายคลึงในหลายๆ จุดนั้น แต่เอย่าบอกได้เพียงว่านี่อาจจะเป็นรากเหง้าการต่อสู้ที่มีในอุษาคเนย์นี้มาแต่ครั้งบรรพกาล จนเมื่อเกิดการไหลของวัฒนธรรม มวยจึงถูกประยุกต์ไปตามถิ่นที่อยู่ของชนพื้นถิ่นแต่ละกลุ่มจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของชนกลุ่มนั้นๆ ได้ 

ดังนั้นในแง่การแข่งขัน กฎของการแข่งกีฬาก็ว่ากันไป แต่อย่าให้เรื่องความขัดแย้งนี้มาทำลายประโยชน์ของการกีฬาที่จะสร้างความรัก ความสัมพันธ์และสามัคคีแก่ผู้คนในภูมิภาคนี้


ที่มา: AYA IRRAWADEE