ย้อนอดีต 'ไทย-เขมร' เกียรติแห่งการวัดเชิงในยุทธจักรหมัดมวย สู่ วิวัฒนาการ เปลี่ยน 'คาดเชือก' มา 'สวมนวม' เพื่อเซฟชีวิตนักสู้

ไม่นานมานี้ เฟซบุ๊ก 'Kornkit Disthan' ของคุณกรกิจ ดิษฐาน นักเขียนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตะวันออก ได้โพสต์สาเหตุที่มวยไทยต้องวิวัฒนาการจากคาดเชือก มาเป็นสวมนวม ว่า...

เหตุที่มวยไทยต้องวิวัฒนาการจากคาดเชือก มาเป็นสวมนวม ก็เพราะนักมวยเขมรตายด้วยน้ำมือนักมวยไทยเมื่อ ๒๔๖๗ 

ศึกนั้น นายแพ เลี้ยงประเสริฐ ชาวไทยต่อยนายเจีย แขกเขมร จนถึงแก่ความตายที่สนามมวยหลักเมือง แต่นั้นมามวยไทยก็เปลี่ยนโฉมหน้าไป 

ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อจะบอกว่า ‘มวย’ ทั้งไทยและเขมรนั้นมีการ ‘แลกเปลี่ยน’ กันถึงใจยิ่งกว่าวิจิตรศิลป์หรือนาฏศิลป์เสียอีก 

แต่มวยมีหลักฐานการแลกเปลี่ยนน้อยกว่าเรื่องโขนละคร เรารู้แต่ว่าเขมรก็มีมวยของเขา ไทยก็มีมวยของเรา และนักชก ๒ ชาติมักจะไปชกเหย้าชกเยือนกันบ่อย ๆ 

มวยไทย มวยเขมร รวมถึงมวยลาว และพม่า ต่างก็ชกกันได้ คล้ายกัน แต่แม่ไม้ ลูกไม้ เชิงมวยย่อมต่างกันไปตามขนบครู 

ดังที่มวยฝรั่ง (Boxing) ก็ไม่ได้มีขนบเดียว อย่างที่จะเห็นว่าฝรั่งเศสเรียกมวยว่า Boxe anglaise (มวยอังกฤษ) ให้ต่างจาก La boxe française (มวยฝรั่งเศส) ที่มีการเตะด้วย ที่เรียกว่า ‘ซาวาต’ (Savate)

นี่คือสิ่งที่ทำให้มวยไทยก็คือมวยไทย มวยเขมรก็คือมวยเขมร ไม่อาจอ้างได้ว่าใครเป็นบรรพบุรุษของใคร ใครเกิดก่อน และใครลอกใคร เพราะไม่มีใครหน้าไหนล่วงรู้ได้ มีแต่ข้อมูลที่จับแพะชนแกะขึ้นมาเพื่อที่จะยกตัวเองให้เหนือกว่าคนอื่น 

ถ้าเขมรภูมิใจในมวยของตัวเองก็ไม่ต้องสร้างประวัติศาสตร์กับขนบปลอม ๆ ขึ้นมา แค่ย้อนกลับไปต้นศตวรรษก่อนก็จะรู้ว่านักมวยไทยกับนักมวยเขมรเขาไม่ได้สู้เพื่อแย่งชิงว่าใครเป็นบิดาใคร แต่ประลองกันว่าเชิงมวยใครเหนือกว่ากัน

มันต้องวัดกันแบบนี้ 

ดูเหมือนว่ามวยเขมรเชิงดี ๆ จะมาจากพระตะบอง ดังในภาพประกอบคือมวยที่เมืองพระตะบอง ในยุคนั้นยังชกกันบนลานทราย นุ่งสมพตคือถกเขมร และยังคาดเชือก

นายเจียร์ พระตะบอง หรือเจีย แขกเขมรนั้นเป็น ‘ครัวเขมร’ คือมุสลิมจาม น่าจะเป็นเครือเดียวกับแขกบ้านครัวที่พระนครกรุงเทพฯ ได้ยินมาว่านักมวยเขมรมักประลองกับนักมวยแขกครัว (คือพวกจาม) 

และมวยเขมรก็ชอบมาชกที่ไทย และไทยก็ชอบไปชกที่เขมร ราวกับว่าต้องการวัดฝีมือกัน

จิตร ภูมิศักดิ์ เคยอยู่ที่พระตะบองมาก่อน เล่าว่าเวลามวยไทยชกกับมวยเขมรที่พระตะบอง คนเขมรมักจะเชียร์ให้ไทยแพ้ว่า “ไทย แพ้ เฮ ! เฮ ! ไทย แพ้ เฮ !” เวลานักมวยเขมรได้เปรียบ แต่เวลานักมวยไทยไล่บี้บ้าง เขมรก็จะเงียบไปตามระเบียบ

ตอนนั้น ไทยเราครอบครองพระตะบองไว้ คนเขมรเกิดชาตินิยมจึงไม่พอใจไทย และมักจะระบายด้วยการเชียร์มวยตัวเองแบบนี้

พระตะบองคงเป็นเมืองมวยจริง ๆ พระองค์เจ้านโรดม นรินทเดช เจ้านายเขมรทรงเล่าไว้ในหนังสือฝรั่งเศสว่า พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ พระเจ้าแผ่นดินเขมรก็ทรงโปรดมวย ถึงขนาดทรงเป็นแชมป์ (champion de boxe) 

พระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์นั้นทรงเคยประทับที่พระตะบองมานาน ต่อมามาประทับที่บางกอก น่าคิดว่าจะทรงเรียนเชิงมวยจากครูที่พระตะบองและกรุงเทพฯ ด้วยหรือเปล่า?

พระตะบองนั้นเคยเป็นดินแดนของไทยมานาน ก่อนจะถูกฝรั่งเศสเอาไปให้เขมร แล้วต่อมาหลวงพิบูลสงครามไปชิงกลับมา (ในยุคของจิตร ภูมิศักดิ์) แล้วก็กลับไปเป็นแผ่นดินกัมพูชาอีก

ไม่ได้หมายความว่ามวยเขมรต้องรับมาจากไทย แต่มันอาจหมายความว่ามวยไทยและเขมรมีพระตะบองเป็นศูนย์กลางของการแลกเปลี่ยน

ย้ำว่าแลกเปลี่ยนและประลองกัน ไม่มีหรอกที่จะอ้างว่า "ข้าเป็นบรรพบุรุษของเอ็ง" เพราะต่างก็มีเชิงที่ต่างกัน

ถ้อยคำของไทยและเขมรนั้นต่างก็แลกกันแลกกันมา 

อย่างคำว่า ‘ประฏาล’ ที่กลายคำเรียกมวยเขมรว่า ‘ประฏาลเสรี’ (กับ กุน ขแมร์) นั้น คำว่า ประฏาล (ប្រដាល់) ประกอบด้วยคำว่า ฏาล (ដាល់) ซึ่งเป็นญาติกับคำว่า ฎะบาล (ត្បាល់) ในคำไทยที่รับมาคือ ตะบัน ที่ทุกวันนี้วงการข่าวมวยก็ยังใช้คำว่าตะบันกันอยู่

สังเวียน หมายถึงเวทีต่อสู้ มากจากภาษาเขมรว่า ‘สํเวียน’ (សង្វៀន) คือ สนามต่อสู้

ชกมวยแล้วต้องมีการพนันขันต่อ ภาษาเขมรว่า ภฺนาล̍ (ភ្នាល់) บางตำราว่าเขมรได้คำนี้จากไทย แต่บางคนว่าไทยสืบทอดจากเขมร 

ปี่พาทย์มวยเขมรประกอบด้วยสรไลย (ស្រឡៃ) สัมโพร (សំភោរ) ฉิง (ឈិង)

‘สรไลย’ คือปี่ไฉนของไทย คำนี้แปลกดี เพราะไทยเรียกอย่างแขก (ชาหะไน/शहनाई) แต่ล้านนาเรียกสรไนเหมือนเขมร

สัมโพรก็คือกลองตะโพน สมัยโบราณไทยยังเรียกว่า ‘สะโพน’ แสดว่าเกี่ยวดองกับเขมร 

คำว่า ‘ฉิง’ ก็คือ ฉิ่ง นี่ก็แบ่งปันกันมาอีกชิ้นหนึ่ง

แลกกันไปแลกกันมาอย่างนี้ 

แม้นายเจีย แขกเขมร เองจะแพ้จนตัวตาย แต่ความตายของเขาทำให้มวยไทยวิวัฒนาการไปอีกระดับหนึ่ง นี่ถือว่ามวยเขมรก็มีคุณูปการต่อมวยไทยด้วย

แต่ก่อนไม่มีใครอวดอ้างว่าใครเป็นพ่อใคร มิหนำซ้ำตอนที่เขมรเกิดสงครามกลางเมือง ไทยเรายังห่วงว่าจะนักมวยเขมรจะสูญแล้วกระมัง นี่คือความห่วงใยของคนใน ‘ยุทธจักร’ ที่หัวใจนักเลง 

ไม่ได้คิดเล็กคิดน้อยเหมือนลูกหลานสมัยนี้

Sujets de boxe (Battambang)
Photographe : Lucienne Delmas (vers 1890-1900 - après 1974)
Précédente collection : Musée de l'Homme
Date(s) : 14 juillet 1923 : Date de prise de vue


ที่มา: https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid0w4J3uzuynsnzt1iGVoVqCSeyaUap56Dwc6YpMs6vTuUfi9MkWcWZLqZKwHRjzutVl&id=719626953&mibextid=Nif5oz