วิบากกรรมกรุงเทพฯ โครงการดีๆ ที่เริ่มถูกลบด้วยเท้า จากคนเคยกล่าว “ถ้าทำไม่ได้ ก็อย่าอาสามาเป็นผู้ว่าฯ”

ไหวมั้ย...ท่านผู้ว่าฯ แต่ชาวประชา ดูท่าจะเริ่มทนไม่ไหว

ในฐานะเป็นคนกรุงเทพมหานครคนหนึ่ง วาดหวังมาตั้งแต่เด็กว่าอยากให้ กทม. มีป่าใจกลางเมือง รวมถึงสวนสาธารณะหลายแห่งกระจายทั่วพื้นที่ เพื่อให้คน กทม. มีพื้นที่สีเขียวไว้ฟอกปอด และพักผ่อนหย่อนใจแทนการอบแอร์ในห้างสรรพสินค้า

เมื่อรัฐบาลนี้ปรับปรุงพื้นที่โรงงานยาสูบเดิม แปลงโฉมให้กลายเป็นสวนเบญจกิติ เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ จึงดีใจที่สุดว่าจะได้พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ เพราะนี่ไม่ใช่สมบัติของคน กทม.เท่านั้น หากคือ สมบัติของคนไทยทั้งชาติ

ชื่อสวนเบญจกิติได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จฯ มาทรงทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดสวนป่าเบญจกิติอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งนับว่าสวนป่าเบญจกิติเป็นสวนสาธารณะที่เป็นสวนป่าแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร 

ช่วงแรกกองทัพเข้ามาริเริ่มงาน จากนั้นก็ส่งไม้ต่อให้กรมธนารักษ์ ซึ่งกรมธนารักษ์มอบให้ทางกทม. ดูแล จำได้ว่าตอนที่เปิดสวนเบญจกิติใหม่ ๆ ทุกคนมีความสุขในการได้เข้าไปใช้พื้นที่ แต่ดูเหมือนว่าความสุขนั้นจะเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ชื่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ได้รับการอวยยศว่าแข็งแกร่งที่สุดในโลก

จากสวนอันแสนสวยงามที่ใคร ๆ กล่าวขวัญถึง กลายเป็นบึงสยองขวัญภายในไม่ทันถึงปี สภาพสวนและบึงน้ำรกเรื้อ ปราศจากการดูแลเอาใจใส่ น้ำแห้งขอดทุกคูรายรอบ ทั้งหญ้าและบัวแห้งตาย กลายเป็นสีน้ำตาลแห้งกรอบ ทำให้ผู้รักสวนสวยถึงกับหัวใจสลาย ด้วยนึกไม่ถึงว่าสภาพจะเลวร้ายขนาดนี้ ทำให้ผู้คนจำนวนมากออกมาเรียกร้องให้ผู้ว่าช่วยมาดูแลปรับปรุงด้วย แต่สิ่งที่ได้รับคือท่านผู้ว่าชัชชาติตอบกลับมาว่า ที่นี่ไม่ใช่สนามกอล์ฟ จะได้เขียวสดตลอดปี ดังปรากฏในมติชนออนไลน์  

ประชาชนผู้ทนไม่ไหวถึงแจ้งต่อเพจสวนเบญจกิติ แต่ปรากฏว่าแอดมินผู้ดูแลเพจกลับชี้แจงไปในทำนองเดียวกับท่านผู้ว่าโดยโทษดินฟ้าอากาศ 

ดังนั้นทหารและจิตอาสากองทัพจึงตบเท้าเข้าไปดูแลปรับปรุงสวนเบญจกิติพร้อมรถบรรทุกน้ำ 4 คัน และรถฉีดน้ำในอาคารควบคุมระยะไกล 2 คัน เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม

นอกจากนี้ยังติดเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่อง สูบน้ำคลองไผ่สิงโต เข้าสู่บึงบำบัด ด้านทิศเหนือ เพื่อเลี้ยงพืชน้ำและบำบัด ก่อนสูบส่งเข้าสระน้ำในสวนป่าต่อไป มีการผันน้ำดีเข้ามาเติมในคลองไผ่สิงโต ส่วนรถน้ำช่วยรดน้ำต้นไม้และพืชคลุมดิน ช่วยฉีดรดน้ำเกาะต้นไม้ และพืชไม้ในบ่อตื้น ซึ่งงานดูแลรักษาสวนเบญจกิติ ทางกองทัพจะเข้ามาช่วยเหลือดูแลต่อไป 

นี่เป็นการสะกิดเตือนใครบางคนให้เร่งทำงานตามหน้าที่อันควรกระทำ ไม่ใช่เอาแต่ตอบคำถามแบบปัดสวะพ้นตัว อย่างที่ทำเสมอเวลาเจอปัญหา 

พูดกันอย่างตรงไปตรงมา หากทาง กทม.จะดูแลสวนเบญจกิติ ก็สามารถทำได้และทำได้ดีด้วย เพราะ กทม.มีรถบรรทุกน้ำประจำเขตอยู่แล้ว ทำไมต้องเดือดร้อนถึงมือทหาร นี่ไม่ใช่ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอุปกรณ์ แต่เป็นเรื่องความจงใจปล่อยปละละเลยของพ่อเมืองมากกว่า

กรณีสวนเบญจกิติคืออีกหนึ่งความล้มเหลว ในหลายความล้มเหลวด้านการทำงานของผู้ว่ากทม. ประเด็นคำถามคือ 1.เหตุใดผู้ว่ากทม. ไม่ดูแลตามหน้าที่อันควรทำ 2.เมื่อประชาชนสอบถาม ผู้ว่ากลับแถและแก้ตัวข้าง ๆ คู ๆ ที่ทุเรศหนักคือ เคลมงานด้านอื่นรัฐบาลมาเป็นของตนเอง เช่น เคลมเรื่องบ้านริมคลองว่าตนจะทำต่อ ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของ กทม. แต่คือผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ ภายใต้การกำกับแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นี่ไม่ใช่ความล้มเหลวเดียวในการบริหารงานของผู้ว่าชัชชาติ แต่ยังมีเรื่องคลองโอ่งอ่าง การจัดระเบียบทางเท้า การแก้ปัญหาหาบเร่แผงลอย เรือคลองผดุง เรือคลองแสนแสบ รถไฟฟ้าสายสีเขียว การนำสายไฟลงดิน และคลองช่องนนทรี สรุปคือโครงการดี ๆ ที่ผู้ว่าอัศวินเคยทำไว้ ไม่ว่าจะดีแค่ไหน แต่ผู้ว่าชัชชาติก็ใช้ตีนลบจนหมดสิ้น

ได้ข่าวมาว่ามีการตัดงบก้อนมหึมาในการพัฒนาสวนลุมจนเหลือนิดเดียว แล้วงบมหาศาลที่ถูกตัด ยักย้ายไปลงโครงการไหนบ้าง นี่คือสิ่งที่ผู้ว่าต้องตอบให้ชัดเจน เดาว่าคงตอบไม่ได้ตามเคย เพราะทำงานไม่สันทัด ถนัดแต่ออกอีเวนต์ ไหนอ้างว่าศึกษามาสองปีแล้วทำได้เท่านี้เองหรือไง

ย้อนหลังไปช่วงก่อนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ครั้งล่าสุด คนไทยยังจำได้ว่า ว่าที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.ต่อจากผู้ว่าอัศวินคนหนึ่งเคยประกาศนโยบายว่า “ถ้าทำไม่ได้ ก็อย่าอาสามาเป็นผู้ว่าฯ” 

ในฐานะคนกทม.โดยกำเนิด ขอถามท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ว่า ยังจำคำพูดนี้ได้ไหม?