งานประชุมระดับโลก ที่คนไทยภาคภูมิใจ

นับเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติที่ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกอย่าง APEC 2022 เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ต้องบอกเลยว่าช่วงที่มีการประชุม ประเทศไทยเราได้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองที่เป็นถึงผู้นำระดับโลก ไม่ว่าจะเป็น สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส, จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา, เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย และผู้นำของเขตเศรษฐกิจอื่น ๆ อีกหลายท่าน

โดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ไทยได้กำหนดหัวข้อหลักการประชุมไว้ว่า Open. Connect. Balance. หรือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ และมีเป้าหมายที่สำคัญ เรียกว่า ‘เป้าหมายกรุงเทพฯ Bangkok’s Goals’

โดยเป้าหมายกรุงเทพฯ คือ การต่อยอดจากโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ของประเทศไทยที่วางอยู่บนแนวคิดสำคัญคือ ‘ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ และความต้องการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN SDGs 2030) ที่ประเทศไทยต้องการเชิญชวนให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก ร่วมกันสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบ (Responsible Economies) 

ทั้งนี้ เป้าหมายกรุงทพฯ ต้องการให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก มีเป้าหมายร่วมกันใน 4 มิติ ได้แก่
1. ร่วมกันสร้างระบบการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Trade and Investment)
2. ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากรและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
3. ร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
4. ร่วมกันบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน
และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทั้ง 4 นี้ ประเทศไทยเสนอให้ต้องมีการดำเนินการพร้อมกันใน 4 ด้าน ได้แก่
1. สร้างกรอบการกำกับดูแลทางนโยบาย และบังคับใช้กฎเกณฑ์ในรูปแบบที่ทำได้จริง
2. ร่วมกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง
3. สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อไปสู่การบรรลุเป้าหมาย
4. ผลักดันให้เกิดเครือข่ายการทำงานร่วมกันในระดับโลก

จะเห็นได้ว่า เป้าหมายกรุงเทพฯ ที่ประเทศไทยต้องการผลักดัน คือ กลไกสำคัญที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกว่า 2 พันล้านคน ใน 21 เขตเศรษฐกิจ และต่อเนื่องถึงระดับโลก ให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ผ่านความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบที่สูงขึ้นของทุกภาคส่วน

และเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการประชุม เขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต ได้มีแถลงการณ์ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์ทั้งใน 3 มิติ นั่นคือ...

- Open ที่จะเดินหน้าเริ่มต้นกระบวนการเจรจา ที่มีกำหนดขั้นตอน และระยะเวลา เพื่อสร้างเขตการค้าเสรีเอเชียแปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกประเทศในโลก ทั้งในมิติผู้ผลิต และผู้บริโภค

- Connect ที่จะสร้างระบบ Safe Passage เพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร สนับสนุนให้ความเชื่อมโยงทั้งในมิติการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายบุคคล ไม่ต้องสะดุดหากเกิดการระบาดของโรคระบาดในระดับโลกขึ้นมาอีกครั้ง

- Balance ระหว่างการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ นโยบายธุรกิจ และการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน

และแน่นอนว่าแม้การประชุมในครั้งนี้จะจบลงไปแล้ว แต่บทบาทหน้าที่ของรัฐบาลไทยไม่ได้จบลงไปด้วย โดยรัฐบาลไทยยังคงต้องติดตามความเป็นไปของข้อตกลงที่ได้เสนอร่วมกันในที่ประชุม เช่น คอยสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกเขตเศรษฐกิจยังคงต้องร่วมกันเดินหน้าอย่างจริงจังในเรื่องการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่ได้ประกาศไว้อย่างชัดเจน และร่วมกันผลักดันวาระ BCG Model ให้เกิดความต่อเนื่องในเวทีโลก เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ‘ประเทศไทย’ และ ‘รัฐบาลไทย’ ไม่ได้เป็นเพียงผู้จัดการประชุมเท่านั้น แต่ยังคงต้องสานต่อเป้าหมายที่ได้ริเริ่มไว้ให้สำเร็จ แม้จะไม่ได้เป็นผู้จัดการประชุมก็ตาม แต่ก็หวังว่าในอนาคตจะได้รับเกียรติจากประเทศสมาชิกในการจัดการประชุมสุดยิ่งใหญ่แบบนี้อีกครั้ง

#เหตุการณ์ที่ต้องจำ