หลวงตาบุญชื่น ปญฺญาวุฑโท ศรัทธามหาชนแห่งปี

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โลกโซเชียลได้แชร์ภาพพระภิกษุชรารูปหนึ่งที่เดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าผ่านพื้นที่ต่าง ๆ โดยมิได้ย่อท้อต่อลมฝน และแสงแดดที่แผดเผา รวมถึงวัยสังขารที่เริ่มร่วงโรย จนทำให้ใครหลายคนเกิดศรัทธา และทำให้เราได้รู้จักพระภิกษุนักปฏิบัตินามว่า ‘หลวงตาบุญชื่น ปญฺญาวุฑโท’

‘หลวงตาบุญชื่น’ ปัจจุบัน ท่านอายุ 74 ปี บวชมาแล้ว 13 พรรษา พื้นเพเกิดที่บ้านเสาเล้า ต.โพนสวรรค์ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม เคยมีชีวิตครอบครัวมาก่อน โดยมีลูกทั้งหมด 4 คน 

เมื่อภารกิจทางโลกลุล่วง ลูก ๆ ทุกคนเติบโตสร้างครอบครัวกันหมดแล้ว จึงขอครอบครัวลาบวช เพราะต้องการหาสัจธรรมของชีวิต อยากเห็นความสงบในชีวิต เพราะชอบศึกษาธรรมะ โดยเฉพาะหลักธรรมคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต แม่ทัพธรรมของพระป่า จึงเข้าอุปสมบท ตัดทางโลกเข้าสู่ทางธรรมเมื่อปี 2552 ที่วัดบ้านเกิด จากนั้นได้แสวงบุญเป็นพระสายป่าธรรมยุติ เดินธุดงค์ไปหลายที่ ไม่จำวัด ทุกปีจะไปจำวัดตามป่าเขา ก่อนนี้ไปจำพรรษาในถ้ำเตียงสิริขันธ์ บนเทือกเขาภูพาน จ.สกลนคร มาต่อเนื่อง 4 ปี

ภาพจำที่คนได้รู้จัก หลวงตาบุญชื่น คือการเดินธุดงค์เท้าเปล่าจาริกนับพันกิโลเมตร โดยไม่รับปัจจัย และสิ่งของที่ผู้มีจิตศรัทธานำมาถวายในระหว่างทาง บางครั้งอาจรับเพียงน้ำเปล่าเท่านั้น เพราะท่านไม่จำเป็นต้องใช้เงินหรือปัจจัย และถือว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดกิเลส

โดยข้อวัตรปฏิบัติของ หลวงตาบุญชื่น คือ รองเท้าไม่ใส่, ปัจจัยไม่รับ, ยานพาหนะไม่นั่ง, ฉันในอาสนะเดียว, นอนไม่มีกลดไม่มีมุ้ง, ครองไตรจีวร

และเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา หลวงตาบุญชื่น ได้เริ่มต้นจาริกธุดงค์เท้าเปล่าแสวงบุญโปรดญาติโยมและมุ่งการให้ทานอีกครั้ง โดยครั้งนี้เริ่มต้นที่วัดมหัตตมังคลาราม หรือวัดหาดใหญ่ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีจุดหมายปลายทาง จ.นครพนม ซึ่งเป็นบ้านเกิด ผ่าน 24 จังหวัด รวมระยะทาง 3,415 กิโลเมตรใช้เวลาธุดงค์ราว 5 เดือน

แน่นอนว่า ตลอดการเดินธุดงค์ของท่านมีสาธุชนจำนวนมากมารอถวายน้ำปานะและดอกไม้ตลอดเส้นทาง แม้แต่พี่น้องชาวมุสลิม ที่อาจจะนับถือคนละศาสนา แต่ก็มีจิตศรัทธาต่อวัตรปฏิบัติของท่าน ได้นำน้ำดื่มมาถวายเมื่อท่านจาริกผ่าน ซึ่งถือเป็นภาพที่งดงามยิ่ง อาจกล่าวได้ว่า วัตรปฏิบัติของหลวงตาบุญชื่น ได้ก่อให้เกิดความศรัทธาต่อผู้ที่ได้พบเห็นท่านอย่างแท้จริง เรียกได้ว่า ‘ยิ่งได้รู้จัก...ยิ่งศรัทธา’

THE STATES TIMES ไม่อาจกล้าหยิบยกคำใดมาเชิดชู แค่อยากให้รู้ว่า “เราภูมิใจในตัวท่าน”