‘สภาองค์การนายจ้างฯ’ ห่วงฝ่ายการเมืองขายฝันค่าแรง 600 บาท เตือนพรรคเจ้าของนโยบาย ดูผลกระทบการจ้างงานทั้งระบบ แนะค่าแรงขั้นต่ำต้องประเมินปัจจัยรอบหน้า ไม่ควรกำหนดอัตราล่วงหน้า

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่โรงแรมสวีทโฮเต็ล ถ.รัชดาภิเษก กทม. สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) จัดงานสัมมนาหัวข้อ ‘600 บาท นโยบายกับ……ขายฝัน’ เพื่อระดมความคิดเห็นต่อกรณีที่มีพรรคการเมืองออกนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 600 บาท ที่มีหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเอกชน

นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล เลขานุการ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (ECOT) กล่าวตอนหนึ่งว่า การสัมมนาในวันนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นบทบาทของสภาองค์การนายจ้าง ซึ่งเป็นผู้แทนของนายจ้างส่วนหนึ่งของประเทศไทย มองเห็นปัญหาของการให้สัญญาของพรรคการเมืองในการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นตัวเลขไว้ล่วงหน้า ว่า จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศอย่างไรบ้าง จึงได้เชิญผู้แทนจากทุกภาคส่วนทั้งภาควิชาการ ภาคนายจ้าง และภาคลูกจ้าง มาร่วมกันเสวนาเพื่อหาข้อสรุป และเผยแพร่ต่อไป

นายเอกสิทธิ์ กล่าวต่อว่า หวังว่า บทสรุปที่ได้รับจากการสัมมนาในครั้งนี้ จะเป็นข้อคิดให้พรรคการเมืองต่างๆ ตระหนักถึงการกำหนดนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นตัวเลขไว้ล่วงหน้าที่มีผลกับการจ้างงานในระบบ แต่ถ้าจะมีผลกับคนทุกกลุ่มในประเทศนั้น นโยบายพรรคการเมืองควรน่าจะเป็นภาพใหญ่ที่ดูแลคนทั้งประเทศ ไม่ใช่นโยบายที่จะก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบในวงกว้างทั่วไป

นายเอกสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรตั้งอยู่บนหลักของหลาย ๆ ปัจจัย เช่น ต้นทุนค่าครองชีพ, อัตราเงินเฟ้อ, ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการ, ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP), ดัชนีราคาผู้บริโภค, ความจําเป็นพื้นฐานของลูกจ้างและครอบครัว, ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง เป็นต้น ซึ่งแต่ละปีจะเปลี่ยนไปไม่แน่นอน ต้องพิจารณาเป็นปี ๆ ไป ตามสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งมีขั้นตอนการปฏิบัติของคณะกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดและระดับชาติอยู่แล้ว