โครงการปลูกกาแฟบนดอย จุดเริ่มต้นเปลี่ยน 'ฝิ่น' สู่ 'ไร่กาแฟ' ทุกถ้วยที่เราอิ่มเอม ล้วนมีเงาของพระองค์อยู่ในนั้นเสมอ
ไม่มีความสุขใดที่จะมากไปกว่า การได้นั่งจิบกาแฟควันกรุ่นถ้วยโปรดรับอรุณ ก่อนจะเริ่มกิจการงานในแต่ละวัน
ว่าแต่กาแฟที่จิบในแต่ละวันนั้น มีเรื่องราวที่เกี่ยวพันกับ 'โครงการหลวง' และเกิดเป็นเรื่องราวมหัศจรรย์ระหว่างชายสองคน จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นโครงการปลูกกาแฟบนดอยอีกด้วย
โครงการหลวงหรือมูลนิธิโครงการหลวงก่อตั้งในปี พ.ศ. 2512 เป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่มุ่งส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น โดยมีเป้าประสงค์คือช่วยเหลือให้ชาวเขามีสภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยในระยะแรกมี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวง
ผลผลิตจากโครงการหลวงส่วนใหญ่เป็นพืชผักและผลไม้เมืองหนาว แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าผลผลิตโครงการหลวงนั้นมีกาแฟรวมอยู่ด้วย
ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอาราบิก้าในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 24 ศูนย์ รวมทั้งหมด 9,491 ไร่ เกษตรกร 2,602 ราย เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตผ่านโครงการหลวงปีละประมาณ 400-500 ตัน
ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน เกิดเรื่องราวอันน่าประทับใจระหว่างชายสองคนที่บ้านหนองหล่ม จังหวัดเชียงใหม่ คนหนึ่งเป็น 'พระราชา' ส่วนอีกคนหนึ่งเป็น 'ชายชาวกะเหรี่ยง'
(ในเวลานั้นบ้านหนองหล่ม อำเภอจอมทอง เต็มไปด้วยไร่ฝิ่น ชายกะเหรี่ยงคนนี้นำเสด็จพระราชาเป็นระยะทางกว่า 7 กิโลเมตรเพื่อไปดูต้นกาแฟ ซึ่งต่อมากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวเขาปลูกกาแฟแทนฝิ่นในโครงการหลวง)
'พะโย่ ตาโร' คือชายกะเหรี่ยงที่นำรัชกาลที่ 9 บุกป่าฝ่าดงไปดูต้นกาแฟ เมื่อเห็นว่าสามารถปลูกกาแฟบนดอยได้ พระองค์จึงให้ชาวเขาหันมาปลูกกาแฟแทนฝิ่น โดยพระราชทานสัญญาว่าจะช่วยเหลือในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น
พระองค์ทรงเสด็จกลับมาอีกหลายครั้งหลายหน เพื่อนำความช่วยเหลือด้านอื่น เช่น พันธุ์สัตว์และหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ โดยพระองค์ทรงมีพระดำรัสว่า...
“แต่ก่อนเขาปลูกฝิ่น เราไปพูดจาชี้แจง ชักชวนให้เขามาลองปลูกกาแฟแทน กะเหรี่ยงไม่เคยปลูกกาแฟมาก่อน ยังดีที่กาแฟไม่ตายเสียหมด แต่ยังเหลืออยู่หนึ่งต้นนั้น ต้องถือว่าเป็นความก้าวหน้าสำหรับกะเหรี่ยง จึงต้องเสด็จฯ ไปทอดพระเนตร จะได้แนะนำเขาต่อไปว่า ทำอย่างไรกาแฟจึงจะเหลืออยู่มากกว่าหนึ่งต้น”
จากต้นกาแฟที่ทรงดั้นด้นเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร กลายมาเป็นโครงการหลวง ที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟของชาวเขา ช่วง พ.ศ. 2517-2522 มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อหาพันธุ์กาแฟอาราบิกา ที่สามารถต้านทานโรคราสนิมที่ระบาดในแหล่งปลูกภาคเหนือของไทย ต่อมาใน พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทอดพระเนตรแปลงกาแฟที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และทรงมีพระราชดำริให้กรมวิชาการเกษตรพัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เหมาะสมกับสภาพที่สูงของประเทศไทยเพื่อปลูกทดแทนฝิ่นบนพื้นที่สูง
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวเขามีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วยการปลูกกาแฟส่งให้กับโครงการหลวง โครงการหลวงจะรับซื้อกาแฟจากชาวเขาเป็นจำนวนมากปีละหลายร้อยตัน นอกจากนี้ชาวบ้านยังได้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนเพื่อดำเนินการขายกาแฟให้กับทั้งโครงการหลวงและแบรนด์กาแฟชื่อดังอื่น ๆ อีก
ตลอดระยะเวลา 70 ปีที่รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ ทำให้แผ่นดินไทยร่มเย็นเป็นสุขเสมอมา ด้วยความที่พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถ จึงเกิดโครงการในพระราชดำริมากถึง 4,000 กว่าโครงการ ล้วนเอื้อประโยชน์ให้ประชาชนชาวไทยทั้งสิ้น
โครงการนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มิได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในป่า เพื่อทอดพระเนตรเห็นต้นกาแฟประวัติศาสตร์แห่งแรงบันดาลใจ เมื่อ พ.ศ. 2517
ทุกครั้งที่ดื่มกาแฟ โปรดระลึกถึงเสมอว่า ทุกถ้วยกาแฟมีเงาของพระราชาผู้เป็นที่รักอยู่ในนั้นเสมอ