‘เสาชิงช้า-กิโยติน’ สิ้นมงคลดลวิบัติ ใยผู้ดูแล จึง ‘ละเว้น-ปล่อยปละ’ ม็อบ

เสาชิงช้าสร้างมาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชในปี ๒๓๒๗ หน้าเทวสถานโบสถ์พราหณ์ และหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม พราหมณ์ที่เทวสถานโบสถ์พราหมณ์นี้บ้างก็ว่าสืบทอดมาจากกรุงศรีอยุธยา หรือมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และจังหวัดเพชรบุรี และสืบตระกูลพราหมณ์ราชสำนักมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้มีพระราชครูวามเทพมุนีเป็นหัวหน้าคณะพราหมณ์ประจำเทวสถานโบสถ์พราหมณ์ 

ในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เขียนอธิบายไว้โดยละเอียดว่าพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย หรือพระราชพิธีโล้ชิงช้า นั้นเดิมจัดขึ้นในเดือนอ้าย ต่อมาขยับมาเป็นเดือนยี่ เพื่อนมัสการบูชาพระอิศวร พระนารายณ์ และพระพิฆเนศ โดยเป็นพิธีขึ้นปีใหม่ของพราหมณ์ โดยที่พราหมณ์ได้อัญเชิญพระเป็นเจ้าเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์พร้อมกันนี้ก็ได้เชิญเทพยดาองค์อื่นๆ เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระคงคา และพระธรณีมาเข้าเฝ้าและร่วมในพิธีด้วย 

การพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย เดิมเน้นเป็นพิธีฮินดู-พราหมณ์ แต่อย่างเดียว แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ทรงโปรดให้จัดพิธีอย่างพุทธเข้าไปเป็นหลักด้วย เช่น มีพระราชพิธีสงฆ์ให้พระสงฆ์รับพระราชทานฉันที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ มีการสวดมนต์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น 

การพระราชพิธีที่เป็นของฮินดู-พราหมณ์แต่เดิมก็ยังคงอยู่ มีการพระราชทานแต่งตั้งพระยายืนชิงช้า ซึ่งโดยปกติจะเป็นตำแหน่งของเกษตราธิการในจตุสดมภ์ ๔ คือเจ้าพระยาพลเทพ แต่ในภายหลังก็มีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเหมาะสมในแต่ละปีไป ความเรียงอธิบายขั้นตอนและสิ่งประกอบในพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนนั้น ละเอียดลออ ครบถ้วน หากอ่านจนครบจะเข้าใจและเห็นภาพได้อย่างกระจ่างชัดจนสามารถนำมารื้อฟื้นพระราชพิธีได้ 

อย่างไรก็ตามพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวายนี้ได้ถูกยกเลิกไปหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกรุงเทพมหานครได้ใช้เสาชิงช้าเป็นสัญลักษณ์ของเมือง อีกทั้งการบูรณะเสาชิงช้าในยุคหลังก็ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ถือว่ากรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลสถานที่ ทั้งนี้เสาชิงช้านั้นตั้งอยู่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครด้วย โดยที่เสาชิงช้าเป็นสถานที่สำคัญมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนากรมศิลปากรจึงได้ขึ้นทะเบียนเสาชิงช้าเป็นโบราณสถานของชาติ

ส่วน กิโยติน ที่สะกดเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Guillotine เป็นอุปกรณ์การประหารชีวิตที่ประดิษฐ์ขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสโดยนายแพทย์อ็องตวน หลุยส์ สมาชิกสมาคมศัลยศาสตร์ เมื่อถูกประดิษฐ์ขึ้นมามีชื่อเรียกว่า Louison ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นกิโยตินตามชื่อของแพทย์ชาวฝรั่งเศสผู้เสนอให้มีการประหารชีวิตนักโทษโดยการตัดคอด้วยกิโยติน พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ ก็ทรงถูกประหารชีวิตด้วยกิโยติน กิโยตินเป็นเครื่องประหารทำด้วยใบมีดรูปสี่เหลี่ยมคางหมูห้อยในอากาศและปล่อยให้หล่นลงมาตัดคอนักโทษประหาร

การที่กลุ่มม็อบคณะราษฎรหรือกลุ่มสามกีบบางกลุ่มได้นำเชือกไปผูกโยงระหว่างเสาตะเกียบสองต้นของเสาชิงช้าแล้วแขวนวัตถุเป็นแผ่นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูห้อยลงมาเป็นการเลียนแบบใบมีดของกิโยตินนั้น เป็นเรื่องอัปมงคลเท่ากับนำแท่นบูชาพระเจ้าในศาสนาฮินดู-พราหมณ์ และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ โบราณสถานของชาติที่ผ่านการประกอบพระราชพิธีตรียัมพวาย ตรีปวาย มานับครั้งไม่ถ้วน บนทำเลที่ตั้งหน้าเทวสถานโบสถ์พราหมณ์และหน้าพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญวัดสุทัศน์เทพวราราม อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สามองค์ คือ ‘พระศรีศากยมุนี’, ‘พระพุทธตรีโลกเชษฐ์’ และ ‘พระพุทธเสรฏฐมุนี’ มาใช้ในการอวมงคล จะดลให้เกิดความวิบัติแก่ผู้กระทำเช่นนั้น 

สิ่งที่น่าคิดคือกรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลสถานที่และผู้ซ่อมบำรุงเสาชิงช้ามานั้น ทำไมจึงละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยปละละเลยให้กลุ่มม็อบเข้าไปประกอบพิธีกรรมอันเป็นอวมงคลในโบราณสถานของชาติทั้งยังดูถูกดูแคลนดูหมิ่นศาสนาและลามปามคุกคามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเคยเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญของบ้านเมืองได้เช่นนี้เล่า 


เรื่อง: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์