คาดเดาบทบาท ‘มาครง’ ในเวที APEC 2022 ผูกมิตรกล่อม ‘จีน’ ด้วยท่าทีที่สวนทาง ‘ทรูโด’

แม้เป้าประสงค์หลักของการประชุมเอเปคจะอยู่ที่การส่งเสริมการค้าแบบพหุภาคี หรือการร่วมพูดคุยกันหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและของโลก 

แต่ด้วยสมาชิกที่หลากหลาย และครอบคลุมมหาอำนาจโลกหลายแห่ง ซึ่งรวมไปถึง สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้นั้น มันก็คงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเหล่าผู้นำชาติมหาอำนาจที่มารวมตัวกัน จะช่วงชิงอิทธิพลในภูมิรัฐศาสตร์โลก ตามสถานการณ์และวิกฤตโลกที่เกิดขึ้น 

ยกตัวอย่างในปีนี้กับความตึงเครียดที่มากขึ้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ทั้งเรื่องการค้า และประเด็นไต้หวัน รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ลามผลกระทบไปสู่เรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังต่อประเทศคู่ขัดแย้งที่เกี่ยวพันในห่วงโซ่นี้ เป็นต้น 

อย่างไรก็ตามใน ‘ทางแจ้ง’ ใครจะวัดพลังกันบนเวที ก็ทำกันไป แต่ใน ‘ทางลับ’ ก็มีเรื่องให้น่าจับตาไม่แพ้กัน เพราะหากสังเกตให้ดีบนเวทีประชุมใหญ่ ๆ ระดับโลกเช่นนี้ ก็มักจะมีท่าทีให้สอดรู้จากผู้นำชาติมหาอำนาจทั้งในกลุ่มเขตเศรษฐกิจ และแขกรับเชิญพิเศษของเจ้าภาพ ซึ่งในปีนี้ไทยเราเชิญมาทั้งสิ้น 3 ชาติ ได้แก่ ฝรั่งเศส, ซาอุดีอาระเบีย และกัมพูชา ที่พร้อมจะใช้เสี้ยวเวลาในการพูดคุย เจรจา หรือปิดดีลบางเรื่องในช่วงเวลาแค่ชั่วพบปะ แล้วเรื่องแบบนี้ก็ไม่ค่อยจะหลุดรอดไปสู่ตาเหยี่ยวสื่อสักเท่าไรด้วย

กลับกันการพูดคุยลับ ๆ ที่ถูกทำให้ไม่ลับ ก็อาจจะทำให้เกิดความแคลงใจกันในภายภาคหน้า เหมือนกับกรณี สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน แหกหน้า จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ระหว่างการประชุม G20 ที่อินโดนีเซีย โดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้พูดคุยกับนายทรูโด ด้วยรอยยิ้มผ่านล่าม ตำหนิในกรณีที่นายทรูโดระบุว่า จีนแทรกแซงการเลือกตั้งของแคนาดา โดยสี จิ้นผิง กล่าวว่า “ทุกอย่างที่เราได้พูดคุยกันถูกรั่วไหลไปถึงสื่อ และนั่นไม่เหมาะสม” ซึ่งท่าทีของผู้นำแคนาดารายนี้ก็รู้กันอยู่ว่าแทบจะเป็นเงาพี่เงาน้องของลูกพี่แซมอยู่แล้ว ก็ได้แต่พยักหน้า ขณะที่ ผู้นำจีน กล่าวต่อว่า “นั่นไม่ใช่วิธีการที่ควรจะเป็น หากมีความจริงใจต่อกัน เราจะร่วมหารือด้วยทัศนคติที่เคารพซึ่งกันและกัน มิเช่นนั้น ผลที่ตามมาจะคาดเดาไม่ได้”

นี่คือตัวอย่างไม่ดี ที่เด็ก ๆ ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง!!

กลับกันกับท่าทีของอีกหนึ่งผู้นำ ที่เชื่อว่าพญามังกรคงรอดูท่าที คือ ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ซึ่งมีหลายฝ่ายเชื่อว่า การมาเอเปค 2022 ในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่มาสานความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศไทย-ฝรั่งเศส, ด้านความมั่นคง, หรือ BCG ที่สอดคล้องแผนปฏิรูปสีเขียวของ EU หรือแค่หนุนประเด็นที่ไทยผลักดันในเวทีเอเปคเท่านั้น 

หากแต่นี่ก็คือเวทีที่ มาครง จะได้มีโอกาสใช้จังหวะ ‘ที่ไม่เป็นทางการ’ คุย ‘ประเด็นทางการ’ ต่อ สีจิ้นผิง สืบเนื่องต่ออีกคำรบจากเวที G20 ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าประเด็นที่จะคุย ก็คงไม่พ้นความคาดหวังที่จะให้จีนเป็นตัวกลางเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อการคลี่คลายปัญหาด้านพลังงานในยุโรป และการขาดแคลนชิปของจีน เป็นต้น

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าท่าทีของ มาครง นั้น แลดูเป็นผู้นำที่มีความนุ่มนวล และตลอดหลายปีที่ผ่านมาในระหว่างที่มี สหรัฐฯ และ ชาติมหาอำนาจในยุโรปอื่นๆ เริ่มมีความขัดแย้งกับ จีนและรัสเซีย นั้น ชาติอย่างฝรั่งเศส โดยนายมาครง ค่อนข้างจะมีทีท่าที่สวนทางความก้าวร้าวเหล่านั้น และแถมยังแสดงถึงท่าทีที่ดูเป็นมิตรต่อ ‘จีน-รัสเซีย’ ที่ย้อนแย้งจากท่าทีเหล่าก๊วนมหาประเทศสายวางก้ามแบบเซอร์ไพรส์

ยิ่งไปกว่านั้น จุดยืนทางการเมืองผู้นำฝรั่งเศสในระยะหลัง ก็มีท่าทีที่เป็นตัวของตัวเอง และคิดถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก โดยไม่เดินตามเกมของสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก ที่พยายามจะให้พันธมิตรทุกคนเป็นศัตรูกับจีนด้วย

แน่นอนว่า ในห้วงเวลานี้ คงไม่มีใครอยากเอาประเทศตัวเองไปอยู่ในคู่ขัดแย้ง และสิ่งที่ มาครง แสดงออกอยู่ตอนนี้ คือ ท่าทีของผู้นำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ (อาจจะพ่วงประเทศพันธมิตรอื่นให้ด้วยนิด ๆ) และประเด็นการพูดคุยที่คาดว่าจะมีการพบปะกันทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของ มาครง ในเวทีเอเปค 2022 แห่งนี้ ก็น่าจะโน้มน้าวใจพญามังกรได้บ้างไม่มากก็น้อย ส่วนผลลัพธ์จะออกหัวออกก้อย ก็ต้องดูพี่เบิ้มจะยังเบ่งกล้ามโชว์บารมีให้พี่สีหมั่นไส้ต่อแค่ไหน ก็รอดูกันไป...