ถอดเนื้อหา FARCRY 6 สู่บริบททึ่คล้ายคลึง 'เมียนมา' สันติภาพไม่มีอยู่จริง หากทุกฝ่ายยังชิงชังไม่จบสิ้น

หากใครเป็นคอเกม ย่อมรู้จักเกม FAR CRY เป็นอย่างดี เพราะเป็นซีรีส์เกมที่ออกมาเมื่อไหร่ก็ฮิตเป็นพลุแตกทุกครั้ง โดยในภาคที่ 6 นี้เนื้อเรื่องของภาคนี้เข้มข้นเหมือนกับชีวิตจริงในเมียนมาเสียจนเอย่าต้องขอยกเรื่องนี้มาเขียนเป็นบทความกันเลยทีเดียว

ในเกม FAR CRY 6 นี้จะเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นบนประเทศที่เป็นหมู่เกาะในคาบสมุทรแคริเบียนที่ชื่อว่า 'ยาร่า' เรื่องราวมีอยู่ว่า ในปี 1967 คณะกองโจรปฏิวัติ 'เกอริญ่า' ได้โค่นล้มระบอบการปกครองเผด็จการของประธานาธิบดี เกเบรียล คาสติโญ่ ลงได้สำเร็จ แต่มันก็นำไปสู่วิกฤติการล่มสลายทางเศรษฐกิจของประเทศยาร่า เวลาผ่านไปในปี 2014 ลูกชายของเขา อันตน คาสติโญ่ ได้ขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีจากการเลือกตั้ง และให้คำมั่นสัญญาว่าจะฟื้นฟูประเทศใหม่ โดยคิดค้นสิ่งที่เรียกว่า 'วิวิโร่' ซึ่งเป็นยารักษาโรคมะเร็งชนิดใหม่ที่พัฒนาขึ้นจากใบยาสูบในประเทศยาร่า และใช้ชื่อโปรเจกต์การฟื้นฟูยาร่าว่า 'บูรณะแดนสวรรค์'

เมื่อเวลาผ่านไป 7 ปี การปกครองของอันตนก็เป็นระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบ เขาใช้แรงงานประชาชนเยี่ยงทาส ปกครองประชาชนด้วยเผด็จการเพื่อเกณฑ์กำลังคนมาเป็นกองทัพ และร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานในการสร้างวิวิโร่ขึ้นมา รวมไปถึงสร้างกองกำลังติดอาวุธ Fuerzas Nacionales de Defensa (FND) ขึ้นมา ประชาชนทุกหย่อมหญ้าเดือดร้อนจากการปกครองด้วยระบอบนี้ แดนี่ โรฮาส ตัวเอกในเกมส์ของเราและเพื่อนอีกสองคนคือ ลิต้า ตอร์เรส และอเลโฮ รูอิซ ตัดสินใจที่จะหนีออกจากขุมนรกแห่งนี้ไปยังอเมริกา  

ก่อนการหลบหนี อเลโฮทนไม่ไหวกับการทำตัวป่าเถื่อนของเหล่าทหาร จึงโผล่หน้าออกไปตะโกนด่าทอ ก่อนจะโดนสวนกลับมาด้วยลูกปืนที่ปลิดชีวิตของเขา ลิต้าและแดนี่จึงรีบหลบหนีออกจากเมืองไปยังเรือที่กำลังจะพาผู้คนหนีออกนอกประเทศ แต่เรื่องราวกลับเลวร้ายเมื่อบนเรือนั้น กลับมี ดิเอโก้ ลูกชายของอันตนอยู่ด้วย อันตนจึงนำกองกำลังมาสกัดและพาตัวดิเอโก้กลับไป พร้อมกับสั่งฆ่าประชาชนทุกคนที่อยู่บนเรือ เรือจมลงสู่ใต้ทะเลและแดนี่กับลิต้าก็ถูกพัดมาเกยตื้นบนชายหาดเกาะซานตัวริโอ้ ส่วนลิต้าที่ทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตไปอีกคน  

จากการรอดตายครั้งนี้ทำให้แดนี่ได้พบกับคลาร่า การ์เซียผู้นำกองโจรปฏิวัติ ลิเบอร์ตาด เพื่อต่อต้านระบอบการปกครองของคาสสิโญ่ และฮวน คอร์เตซ อดีตสายลับและผู้ผลิตอาวุธที่คอยขัดขวางระบบการผลิตวิวิโร่บนเกาะซานตัวริโอ้ จากนั้นแผนการโค่นล้มระบอบเผด็จการจึงได้เริ่มต้นขึ้น 

และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดก่อนจะเริ่มเกม โดยหากใครเล่นเกมจะพบว่ากองทัพปฎิวัตินั้น แยกเป็นหลายกลุ่มซึ่งมีแดนี่เป็นคนดึงให้ทุกกลุ่มมมาอยู่ด้วยกันจนสามารถโค่นล้มประธานาธิบดี อัลตน คาสติโญ่ได้สำเร็จ  

จากเนื้อหาในเกม หากเปรียบเทียบกับสิ่งที่เมียนมาเป็น มีอะไรเหมือนหรือแตกต่างจากเกมบ้าง?

ในเกมประธานาธิบดีอัลตน พยายามแยกชาวยาร่าว่ามี 2 กลุ่มคือชาวยาร่าแท้ ๆ กับอีกกลุ่มที่ในเกมระบุว่าเป็นพวกชายขอบ ซึ่งเนื้อหาจุดนี้คล้ายกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา ตรงที่มีปัญหาจากความแตกต่างของชาติพันธุ์เป็นทุนเดิม แต่ในเมียนมานั้น ทางรัฐบาลทุกรัฐบาลแม้กระทั่งรัฐบาลทหารก็มีท่าทีที่จะรวบชาติพันธุ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับชาติพันธุ์เมียนมา ไม่ได้แบ่งแยกเหมือนในเกม

กลุ่มผู้ต่อต้านกระจายกันอยู่ต่างฝ่ายต่างมีแนวทางของตัวเอง มีเพียงในเกมเท่านั้นที่มีสถานการณ์ที่ทำให้ทุกฝ่ายรวมกันเป็นกลุ่มเดียว แต่ในความเป็นจริงนั้นทำได้ยากมาก

เพราะเรื่องจริงนั้นมักจะมีมือที่สามให้การสนับสนุนทั้งฝ่ายรัฐบาลของอัลตนและฝ่ายเกอริญา โดยในเกมระบุว่าฝ่ายรัฐบาลนั้นมีแยงกี้เป็นผู้สนับสนุนในการลงทุนการทำฟาร์มยาสูบวิวิโร่ ส่วนฝ่ายต่อต้านได้เงินและการสนับสนุนอาวุธจากการค้าของเถื่อน

นอกจากนี้ ผู้ทรยศก็ล้วนมีอยู่ทุกฝ่าย หากใครเล่นเกมจะเห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีผู้ทรยศต่อฝ่ายตัวเอง เพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งสถานการณ์ในเมียนมาก็มีไม่น้อยที่ทหารหลายคนแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับฝั่งของมินอ่องหล่ายและฝ่ายต่อต้านก็มีหลายคนที่เลือกที่จะหยุดไม่สนับสนุนการต่อต้านอีกต่อไปด้วยเหตุผลส่วนตัวของเขาเช่นกัน

อย่างไรซะ ไม่ว่าจะในเกมหรือชีวิตจริง ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงบาดเจ็บและสียชีวิตก็คือชาวบ้านที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ที่อยู่ในเขตสู้รบ

การทำโฆษณาชวนเชื่อ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดึงมวลชนมาเป็นพวกของตน ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายต่อต้านไม่ว่าจะในเกมหรือในชีวิตจริงเรื่องนี้เป็นจริงเสมอ

แม้แม่ทัพใหญ่จะตาย เกมจะจบ แต่สงครามของความขัดแย้งไม่มีวันจบ เพราะจะมีคนมาแทนเสมอ  เฉกเช่นเดียวกันกับที่แม้ฝั่งกองทัพเมียนมาจะสังหารหัวกะทิแม่ทัพตายไปมากมายเท่าไรก็ตาม ก็จะมีคนใหม่มาแทนเสมอ

แม้ประธานาธิบดีอัลตนจะตายไปแต่ยาร่า ก็ไม่ได้มีเสรีภาพตามที่เกอริญาคาดหวังไว้อยู่ดี เพราะสุดท้ายก็จะมีกลุ่มที่เคยให้การสนับสนุนประธานาธิบดีอัลตนกำเนิดขึ้นมาเป็นกลุ่มต่อต้านพวกเกอริญา ซึ่งเป็นบทสรุปว่าสงครามไม่เคยนำพาสันติภาพไม่ว่าจะในรูปแบบใด แต่เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้แสวงหาประโยชน์จากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสงครามเท่านั้น

ในประเทศไทยเองเราเคยผ่านเหตุการณ์คล้ายๆ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมียนมาหรือในยาร่ามาก่อนสมัยที่มีการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย ตอนนั้นในไทยเองประชาชนก็ถูกแบ่งแยกเป็น 2 ฝั่งแบบนี้ แต่ด้วยพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับนักข่าวต่างประเทศว่า พระองค์ไม่เคยทำสงครามกับคอมมิวนิสต์ พระองค์ทำสงครามกับความยากจน หากประชาขนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น คอมมิวนิสต์เองก็ได้ประโยชน์ด้วย และด้วยปณิธานนี้ร่วมกับนโยบาย 66/23 โดยให้ผู้ที่มีแนวคิดคอมมิวนิสต์ออกมามอบตัวและกลับคืนสู่สังคม ซึ่งปัจจุบันทางรับบาลทหารของเมียนมาก็ใช้แนวคิดนี้อยู่เช่นกัน  

ดังนั้นเชื่อว่าได้ฝั่งรัฐบาลทหาร แม้จะมีการปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างหนัก แต่อีกมุมหนึ่งก็ทราบดีว่าการปราบปรามไม่ได้สร้างสันติภาพให้เกิดในเมียนมาอย่างจริงจัง จึงทำให้เกิดโครงการเพื่อสันติภาพกับกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาสันติภาพกับกลุ่มต่างๆ ก็ดีหรือการที่พยายามกระจายเขตเศรษฐกิจออกไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นตามลำดับ และนั่นน่าจะเป็นภารกิจระยะยาวที่แม้ในช่วงชีวิตของนายพลมินอ่องหล่าย ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จก็เป็นได้ 

แต่สุดท้ายนี่ก็คือเรื่องที่ดีที่มันได้เกิดขึ้นแล้วในฝั่งรัฐบาลเมียนมาในปัจจุบัน ที่เหลือคือจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้มากน้อยแค่ไหนเท่านั้น


เรื่อง: AYA IRRAWADEE