'สหรัฐฯ' เตรียมยื่นข้อเสนอให้ 'เวเนซูเอลา' หลุดพ้นมาตรการคว่ำบาตร แลกบ่อน้ำมันให้ Chevron

สำนักข่าว Wall Street Journal รายงานว่า รัฐบาลของโจ ไบเดน ประกาศพร้อมที่จะผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซูเอลา หากรัฐบาลเวเนซูเอลาเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ โดยที่ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ต้องเจรจาสมานฉันท์กับฝ่ายค้าน และจัดการเลือกตั้งใหม่ภายในปี 2024 

แต่ทั้งนี้ สื่อต่างชาติมองว่า การที่รัฐบาลไบเดน ยื่นข้อเสนอในการปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซูเอลา เพราะต้องการเปิดทางให้ Chevron บริษัทน้ำมันของสหรัฐฯ ที่มีสัมปทานบ่อน้ำในเวเนซูเอลา สามารถส่งออกน้ำมันสู่ตลาดโลกได้อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจน้ำมันของรัสเซีย

สำหรับต้นเหตุของมาตรการคว่ำบาตรรอบล่าสุดต่อเวเนซูเอลาของสหรัฐฯ เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งใหญ่ของเวเนซูเอลาในปี 2018 ซึ่ง ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร สามารถคว้าชัยชนะได้เป็นสมัยที่ 2 แต่กลับถูกสภานิติบัญญัติกล่าวหาว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรม มีการโกงการเลือกตั้ง และซื้อสิทธิ์ขายเสียง จนนำไปสู่การประท้วงให้ นิโคลัส มาดูโร ลาออก 

ต่อมา ฮวน กุยโด ประธานสภา และผู้นำฝ่ายค้านได้ออกมาประกาศตัวเป็นผู้นำเวเนซูเอลาแทน นิโคลัส มาดูโร ซึ่งได้รับการรับรองโดย โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2019 

แต่ทว่า ด้าน ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ยังคงได้รับการสนับสนุนจากอีกหลายชาติ ทั้งจีน, เม็กซิโก, คิวบา, ตุรเคีย ด้วยเหตุผลว่า นิโคลัส มาดูโร เป็นผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง จึงทำให้มาดูโร ยังคงรักษาฐานอำนาจในเวเนซูเอลาได้ และนั่นจึงเป็นที่มาของการคว่ำบาตรเวเนซูเอลาอีกครั้งในสมัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งผลให้ Chevron ที่ทำสัมปทานขุดเจาะน้ำมันอยู่ในเวเนซูเอลาไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้จนถึงตอนนี้ 

แต่ในวันนี้ รัฐบาลไบเดนเล็งเห็นว่า สมควรแก่เวลาที่จะเริ่มปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรเวเนซูเอลาได้แล้ว ท่ามกลางวิกฤติพลังงานโลกที่เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งคาดว่า ในช่วงฤดูหนาวปีนี้ ประเทศในแถบซีกโลกเหนืออาจต้องเผชิญปัญหาการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก 

อีกทั้งกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่าง OPEC+ เพิ่งประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่าทางสหรัฐฯ จะพยายามกดดันให้มีการเพิ่มการผลิตน้ำมันก็ตาม

เวเนซูเอลา มีแหล่งน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดอีกแห่งของโลก และมีศักยภาพการผลิตได้สูงสุดถึง 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่เจอการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ทำให้ทุกวันนี้เวเนซูเอลาจำกัดการผลิตน้ำมันอยู่ที่ 5 แสนบาร์เรลต่อวันเท่านั้น 

แต่รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังยื่นข้อเสนอปลดล็อกมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของเวเนซูเอลา ที่จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศโดยรวม และแน่นอนที่สุดคือ ธุรกิจการขุดเจาะน้ำมันของ Chevron แต่มีเงื่อนไขว่า ประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร ต้องไปเจรจาจับมือกับ ฮวน กุยโด ผู้ที่เคยแต่งตั้งตัวเองเป็นผู้นำเวเนซูเอลา และมีเป้าหมายโค่นล้มเขา ผ่านการจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใส เป็นประชาธิปไตยภายในปี 2024 

ซึ่งสหรัฐอเมริกาคาดหวังว่า ผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปนี้ อาจได้รัฐบาลชุดใหม่ตามที่สหรัฐฯ หวังไว้ ซึ่งจะเป็นการเปิดทางบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯ เข้าไปต่อยอดการลงทุนในเวเนซูเอลาได้อีกทันที เรียกว่าเป็นข้อเสนอที่สหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์ทุกประตู 

เรื่องนี้ทางเวเนซูเอลา อาจต้องคิดทบทวนถึงผลประโยชน์ของประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยกรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงดี ๆ ว่า ผลตอบแทนที่จะได้รับนั้น คุ้มค่า สมน้ำ สมเนื้อ แค่ไหน...


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Al Jazeera / Argus Media / Reuters