'วิโรจน์' ตั้ง 8 ข้อสงสัยผู้บริหารกทม.ชุดเก่า ปมหนี้ BTS ทั้งที่เงินสะสมมีพอ แต่เหตุใดจึงปล่อยให้หนี้พอก

ภายหลังจากที่มีการฟ้องร้องข้อพิพาทรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ BTSC ฟ้องกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม (KT) ที่ศาลปกครอง ในกรณีที่ BTSC เรียกร้องให้ กทม. จ่ายเงินที่ค้างชำระค่าเดินรถและค่าซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า BTS ส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 เป็นเงิน 11,755 ล้านบาท ซึ่งค้างมาตั้งแต่ผู้บริหาร กทม. ชุดที่แล้ว

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่ากทม.พรรคก้าวไกล เปิดเผยว่าตนและทีมงานพรรคก้าวไกลก็ได้เข้าไปสังเกตการณ์ในกรณีนี้ด้วย ซึ่งวิโรจน์ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีนี้ 8 ประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้...

1. ผู้บริหาร กทม. ชุดก่อน ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร คสช. เคยร้องขอต่อสภา กทม. ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร คสช. ให้มีการอนุมัติเงินสะสมของ กทม. มาจ่ายหนี้ค่ารถไฟฟ้า แต่สภา กทม. ในขณะนั้นกลับไม่อนุมัติให้นำเอาเงินสะสมมาจ่ายหนี้ให้แก่ BTSC ทำให้หนี้ค่าจ้างเดินรถ และค่าซ่อมบำรุง สะสมทบต้นทบดอก จนเป็นภาระหนี้สินที่หนักมากขึ้น ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าสงสัยมาก เพราะ กทม. มีเงินสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อการใช้หนี้ ไม่จำเป็นต้องเบี้ยวหนี้ จนดอกเบี้ยทบต้นทบดอก

2. มีสัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม กับ BTSC อยู่ 2 ฉบับ ที่เป็นสาระสำคัญ ที่ กทม. ควรพิจารณาเปิดเผยต่อสาธารณะ ได้แก่ สัญญาจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 ที่ กทส.006/55 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2555 และสัญญาจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ กทส.024/59 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2559 ซึ่งตัวเลขหนี้สินต่าง ๆ ที่ กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างจ่ายให้กับ BTSC ล้วนคำนวณมาจากสัญญา 2 ฉบับนี้

3. สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นหลัก ที่มีอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี จะสิ้นสุดลง ณ วันที่ 4 ธ.ค. 2572 แต่สัญญาจ้างเดินรถ และซ่อมบำรุง ทั้ง 2 ฉบับข้างต้น ยังคงผูกพัน กทม. และกรุงเทพธนาคม ไปจนถึงปี พ.ศ. 2585 นั่นหมายความว่าสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ มีผลกระทบอย่างมากต่อการเปิดประมูลสัมปทานใหม่ ดังนั้นการอ่านทานสัญญาทั้ง 2 ฉบับนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

4. หนี้ที่ กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างจ่าย BTSC มีอยู่ทั้งสิ้น 11,755.08 ล้านบาท ประกอบด้วย...
...ค่าเดินรถ และค่าซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 1 2,348.66 ล้านบาท (เงินต้น 2,199.1 ล้านบาท และดอกเบี้ย 149.56 ล้านบาท)
...ค่าเดินรถ และค่าซ่อมบำรุง ส่วนต่อขยายที่ 2  9,406.42 ล้านบาท (เงินต้น 8,786.77 ล้านบาท และดอกเบี้ย 619.65 ล้านบาท)

5. หลังจากที่ทราบว่าหนี้ที่ทาง กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างจ่ายให้กับ BTSC นั้นมีมูลค่าอยู่ที่ 11,755.08 ล้านบาท แม้ว่าจะเป็นหนี้ระดับหมื่นล้าน แต่ก็ไม่ได้เป็นภาระที่น่าหนักใจอะไร เพราะ กทม. มีเงินสะสมอยู่มากถึง 69,757 ล้านบาท (ณ 30 ก.ย. 64) ซึ่งผู้ว่า กทม. สามารถขออนุมัติจากสภา กทม. ให้นำมาจ่ายหนี้ให้แก่ BTSC ได้ ไม่จำเป็นต้องปล่อยให้หนี้ทบต้นทบดอก จนกลายเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

6. ผู้บริหารชุดใหม่ของกรุงเทพธนาคม มีความมั่นใจอย่างยิ่งว่า หากมีการคำนวณใหม่ ให้ตัวเลขต่าง ๆ มีความถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และหลักการทางการเงิน มูลหนี้ทั้งหมดน่าจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่ง กทม. และกรุงเทพธนาคม สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ หากพบว่ามูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น อยู่ในระดับที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น

7. มูลหนี้เพียงแค่ 11,755.08 ล้านบาท ไม่ได้เป็นอุปสรรคที่ทำให้ กทม. จำเป็นต้องต่ออายุสัมปทานเลย เมื่อทราบว่ามูลหนี้ที่ถูกฟ้องอยู่ในระดับที่ กทม. จ่ายไหว ยิ่งทำให้มั่นใจว่า ทางออกของรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ การเปิดประมูลใหม่เมื่ออายุสัมปทานหมดลงในปี พ.ศ. 2572 โดยในมาตราที่ 49 ของ พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ในปีนี้ หรืออย่างช้าในปี พ.ศ.2567 กทม. สามารจัดทำแผนในการเปิดประมูลใหม่เพื่อเสนอต่อรัฐบาลได้แล้ว

8. ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาในวันพุธที่ 7 ก.ย. 65 ซึ่งในวันดังกล่าว ประชาชนจะได้รับทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ถึงกรณีพิพาทนี้อย่างชัดเจนขึ้น