รู้จัก 'นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์' หมอใหญ่แห่งอุ้มผาง ผู้คว้าแพทย์ดีเด่นของแพทยสภาประจำปี 2565

จากเฟซบุ๊กเพจ 'เรื่องเล่าหมอชายแดน' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

ทางแพทยสภาได้ประกาศว่า พี่ตุ่ย...นายแพทย์ วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จังหวัดตาก ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นของแพทยสภาประจำปี 2565 ไม่ว่าจะเป็นคนไข้ ชาวบ้าน หรือหมอด้วยกันทุกคนจะต้องบอกว่าเหมาะสมมาก ๆ 

จริง ๆ พี่ตุ่ยก็เหมาะสมกับรางวัลคนดี คนเสียสละทุกรางวัลบนโลกนี้นะแหละ ตอนฉันเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลอุ้มผางมีหน่วยงานหนึ่งจะมอบรางวัลแพทย์ดีเด่นให้แกซ้ำอีกในปีถัดกัน (คือปีก่อนหน้าได้มา 1 รางวัล) แกบอกว่าขอไม่รับเพราะยังมีหมอท่านอื่นที่ทุ่มเทที่เขาควรได้เหมือนกัน เท่าที่รู้จักแกมาแกไม่เคยยึดติดกับรางวัลอะไรเลยนะ

ความดี ความเสียสละของพี่ตุ่ยมันเป็นสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้ เพราะพี่ตุ่ยทำมันจนผนวกเป็นนิสัย ไม่ต้องพยายาม แกก็พยายามสั่งสอนน้อง ๆ ทุกคนด้วยการทำให้ดูและสอนเชิงธรรมะ ให้เรามีทัศนคติในการปฏิบัติหน้าที่เป็นหมอได้อย่างดี ให้เรารักคนไข้โดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ ชนชั้นหรือข้อจำกัดใด ๆ ให้นึกถึงแต่ประโยชน์ของคนไข้เท่านั้น 

ยังมีความดีปลีกย่อยที่ฉันสังเกตได้ รับรู้ได้แต่อาจจะยังไม่มีการเผยแพร่ เช่น...

>> พี่ตุ่ยใช้เงินเดือนของตัวเองส่งเด็กเรียน ทั้งบุตรหลานเจ้าหน้าที่ เด็กชาวเขาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ พอจบออกมาก็มาเป็นพยาบาล เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อช่วยชาวบ้าน 

บางปีพี่แกส่งเรียนเกือบ 30 คน ส่วนการใช้ชีวิตส่วนตัวแกประหยัดมากซื้อเสื้อผ้าของใช้ฟุ่มเฟือยน้อยมากจริง ๆ

>> พี่ตุ่ยเสียภาษีทุกบาททุกสตางค์โดยไม่ลดหย่อน ฉันเคยจะสอนแกซื้อกองทุนมาลดหย่อน แกบอกว่าช่างมันเหอะเบียร์เอ็งไม่ต้องสอนพี่ ภาษีมันก็ไปช่วยบริหารประเทศ (โวะ พูดแล้วโมโห 55)

>> พี่ตุ่ยให้โรงครัวทำอาหารเลี้ยงคนไข้และญาติทุกคนเติมได้ไม่อั้น ผ้าห่มก็หามาให้ใช้อย่างเพียงพอ คนไข้จะเอากลับไปก็ไม่ว่า แกบอกว่าที่บ้านคงจะหนาวและไม่มีสักผืน บางปีผ้าห่มหายเป็นพัน ๆ 

>> พี่ตุ่ยทำเรื่องสร้าง สสช คล้าย ๆ รพ.สต แต่เล็กกว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลมาก ๆ ไว้ดูแลคนไข้ก่อนส่งมาโรงพยาบาล 

ส่ง ตชด ไปเรียนรู้เกี่ยวกับงานสาธารณสุขเพื่อมาประจำที่นั่น

>> พี่ตุ่ยริเริ่มการขึ้นทะเบียนและให้การรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาสถานะทางสิทธิ์ (stateless) คือคนชาวเขาที่นี่เขาไม่ค่อยมีความรู้เรื่องกฏหมาย อยู่กันมานานโดยไม่มีบัตรประชาชนทำให้เข้าไม่ถึงบริการจากรัฐ เราก็ขึ้นทะเบียนเป็นบัตร ท99 เพื่อให้คนไข้มาใช้บริการได้เหมือนคนไทยทั่วไปและรอพิสูจน์สัญชาติตามลำดับ 

>> พี่ตุ่ยแกชอบเรื่องวิศวกรรมมาก แกสามารถไปดูแลงานก่อสร้างเครื่องปั่นไฟ ไปป์ไลน์ ปั๊มน้ำ สร้างตึก ผลิตน้ำมันชีวภาพ ผลิตขาเทียม ทุกโรงพยาบาลในจังหวัดตากอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย แกรู้ทุกเรื่องอย่างเชี่ยวชาญลึกซึ้งจริง ๆ

>> พี่ตุ่ยพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนห่างไกลให้เป็นที่รู้จัก มีโครงการบริจาคยาเหลือใช้ มีเครื่องมือเครื่องใช้ล้ำนำสมัยมาก ๆ บางอย่าง รพ.แม่สอดยังไม่มีด้วยซ้ำ มีมูลนิธิโรงพยาบาลอุ้มผางเพื่อช่วยเหลือคนไข้ เช่นการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษาที่อื่นเป็นต้น 

ความดีของแกมีอีกเยอะเม้าท์เท่าไหร่ก็ไม่หมด 

แกเคยบอกว่าชาวบ้านที่นี่อยู่มาก่อนที่โรงพยาบาลจะมาตั้งด้วยซ้ำ วิถีชีวิตของเขาไม่ได้ด้อยโอกาส การที่มีเรา คือ มาช่วยให้เขาเข้าถึงบริการเร็วขึ้น มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น 

ชาวบ้านเรียกแกว่า 'ตะล่าผ่าโด้' ... แปลว่า 'หมอใหญ่' แกก็คงอยู่ที่อุ้มผางจนเกษียณ ถือว่าเป็นตำนานของอุ้มผาง และเป็นหมอดีเด่นตลอดกาลในใจของทุกคน


ที่มา: https://www.facebook.com/100044276056766/posts/pfbid0nS2LAsBFEFwSSRHeftS5CQi7ywPqzV61MbXyQ3BfJdSrM1T2WZBN5zJAuAgjvVFfl/