วันนี้ เมื่อ 80 ปีก่อน ประเทศไทย ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนนายร้อยหญิงเป็นครั้งแรก

เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2485 กรมยุทธศึกษาทหารบก (ร.ร.จปร.) ได้ประกาศรับสมัครนักเรียนนายร้อยหญิง โดยประกาศด้วยใบปลิว ทางหนังสือพิมพ์ และทางวิทยุกระจายเสียง และได้เริ่มเปิดรับสมัคร ณ ที่ว่าการกรมยุทธศึกษาทหารบก ถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2485 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2485

สำหรับคุณสมบัติสำคัญของผู้สมัครมีดังนี้

1. สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ของกระทรวงศึกษาธิการ หรือที่กระทรวงศึกษาธิการเทียบเท่า

2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปี ถึง 24 ปีบริบูรณ์ การนับอายุถือตามพระราชบัญญัติรับราชการทหาร

3. มีนามตัว นามสกุล และสัญชาติเป็นไทย ทั้งบิดามารดาต้องเป็นคนไทยโดยกำเนิด

4. มีอัธยาศัยและความประพฤติเรียบร้อย

5. ไม่ถูกปลดจากยุวนารี

6. มีอวัยวะสมบูรณ์ปราศจากโรค รูปร่างท่าทางและขนาดร่างกายเหมาะเป็นทหาร

7. มีเสียงดังแจ่มใส

8. เป็นหญิงโสด

9. บิดามารดาผู้ให้กำเนิดต้องเป็นผู้มีหลักฐานหรืออาชีพอันชอบธรรม

10. ต้องได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง
 

นักเรียนนายร้อยหญิงทหารบก เมื่อเรียนจบหลักสูตรและสอบได้แล้ว จะได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ประจำกรมกองทหารหญิง ในตำแหน่งนายทหารชั้นสัญญาบัตร ได้เงินเดือนชั้น 26 (เดือนละ 80 บาท) แต่เมื่อสมรสแล้ว ต้องออกจากประจำการ

การรับนักเรียนนายร้อยหญิงครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะสงคราม ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เมื่อเข้าถึงช่วงท้ายของสงคราม จอมพล ป. ประสบกับความเพลี่ยงพล้ำทางการเมือง เมื่อรัฐสภาไม่อนุมัติพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ และไม่อนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล ทำให้จอมพล ป. ต้องลาออกจากตำแหน่งตามมารยาท

การลาออกของจอมพล ป. ส่งผลให้นโยบายทางการทหารของไทยเปลี่ยนแปลงไป กองทัพบกได้ออกคำสั่งพิเศษ ให้เปลี่ยนสถานะของนายร้อยหญิงและนายสิบหญิง มาเป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือนประเภทสามัญทั้งหมด ผู้ที่จะลาออกเพราะไม่สมัครใจจะรับราชการต่อก็ให้ออกไปได้โดยไม่มีบำเหน็จบำนาญ กิจการทหารหญิงยุคแรกของไทยจึงยุติลง

ที่มา : https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_1644