สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย จัดงาน "สมัชชาคนพิการแห่งชาติและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564"

วันที่ 12 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ กรุงเทพ  สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย จัดงาน "สมัชชาคนพิการแห่งชาติและประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564" สนับสนุนโดยกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ )

"นายชูศักดิ์ จันทยานนท์"นายกสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวรายละเอียดความเป็นมาของงานสมัชชาในปีนี้ นับเป็นเวลา 39 ปีแล้วที่สภาคนพิการจัดงานสมัชชาคนพิการแห่งชาติต่อเนื่องมาเกือบทุกปี ตั้งแต่ปี 2526 ที่จังหวัดเชียงใหม่ สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย เป็นองค์การขับเคลื่อนนโยบายและกฎหมายด้านคนพิการระดับชาติ รวมทั้งพิทักษ์สิทธิคนพิการ ซึ่งถูกรับรองฐานะไว้ในพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 27 รวมทั้งเป็นองค์กรร่ม (Umbrella Organization) ของคนพิการในประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกสามัญถาวร คือ องค์การด้านคนพิการระดับชาติ 6 องค์กร ได้แก่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย สมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย) ประกอบกับมีสมาชิกสามัญทั่วไป คือ สภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัดใน 77 จังหวัด รวมทั้งมีสมาชิกวิสามัญ ได้แก่ มูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ และมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้งยังทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) สภาศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการประเทศไทย และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประเทศไทย เป็นต้น
ในสมัชชาคนพิการทุกๆ ปีจะมีหัวข้อที่แตกต่างกันไป โดยในปีนี้มีหัวข้อว่า “การเสริมพลังคนพิการแบบมุ่งเป้า ผ่านกลไกการปฏิรูปประเทศด้านสังคมสู่การเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียม” เนื่องจากในปีนี้ 2565 แผนการปฏิรูปประเทศจะสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาการดำเนินการลง ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 3 ประเด็นปฏิรูปสำคัญ ได้แก่  1) การปฏิรูปกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ 
2) กิจกรรมปฏิรูป (Big Rock): การปฏิรูปการขึ้นทะเบียนคนพิการ เพื่อให้คนพิการได้รับสิทธิสวัสดิการและความช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง และ 
3) การปฏิรูปการจัดสภาพแวดล้อมสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ (Accessibility for All Act : AAA)  
 ดังนั้นจึงต้องเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และนำประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสังคมของทั้ง ๓ ประเด็นดังกล่าวไปสู่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
นอกจากเพื่อเร่งรัดการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปข้างต้นแล้ว วัตถุประสงค์ของงานสมัชชาคนพิการแห่งชาติ ได้แก่
1. เพื่อเป็นเวทีสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สถานการณ์และอุปสรรคการดำเนินงานของสมาชิก ทั้งองค์การคนพิการแต่ละประเภท สภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัด และภาคีเครือข่าย ในการขับเคลื่อนและติดตาม กฎหมาย นโยบาย ไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งแนวทางที่จะทำให้คนพิการเข้าถึงสิทธิได้จริง โดยในวันนี้ 13 สิงหาคม 2565 ช่วงบ่ายจะมี การเสวนาเรื่อง “แนวทางและต้นแบบการดำเนินงานของสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัด” โดยจะให้ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ได้มานำเสนอผลงานเด่น (Best Practices) ของแต่ละจังหวัดคนละ 3 นาที  2. เพื่อรับฟังความคิดเห็นและพัฒนาเป็นมติสมัชชาคนพิการแห่งชาติ ประกอบด้วยเรื่องสำคัญ 3 ประเด็น ได้แก่ 
2.1 ข้อเสนอต่อการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับคนพิการ ซึ่งในช่วงเช้าต่อจากนี้ก็จะมีการอภิปรายในเรื่องดังกล่าว 
2.2 ข้อเสนอต่อร่างแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (2566-2570) ซึ่งเมื่อวานนี้รองศาสตราจารย์ ดร. ปกรณ์ ศิริประกอบ ก็ได้มาบรรยายเรื่อง “การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2566-2570)”
2.3 ข้อเสนอต่อแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์บริการคนพิการ ซึ่งเมื่อวานนี้ผู้แทนกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการก็ได้มาร่วมการเสวนา เพื่อหารือแนวทางขับเคลื่อน MOU ที่สภาคนพิการ พก. สสส. และมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประเทศไทย (TRIP) ลงนามร่วมกัน ไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม  
โดยที่ประชุมใหญ่จะมีมติรับรองข้อเสนอทั้ง 3 เรื่อง ดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. เพื่อรายงานผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมาแก่สมาชิก และสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการเสนอแนะความเห็นเพื่อประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสภาคนพิการ ผ่านการประชุมใหญ่สามัญประจำปีในวันพรุ่งนี้  

ขอเรียนให้ทราบว่าในงานสมัชชาปีนี้ เรายังได้ริเริ่มหลายเรื่องเป็นครั้งแรก เพื่อให้ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ เป็นงานสมัชชาในลักษณะผสมผสาน (Hybrid Event) ครั้งแรก ที่ผู้เข้าร่วมงานสมัชชาสามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งแบบมาร่วมงาน ณ สถานที่จัดงาน (Onsite) จำนวน 220 คน และแบบมาร่วมงานผ่านทางระบบการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Online) อีกจำนวนกว่า 462 คน ประกอบด้วย  คณะกรรมการบริหารสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย ผู้แทนองค์การคนพิการแต่ละประเภท 6 สมาคม ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภทประจำจังหวัด 77 จังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 682 คน พร้อมทั้งจะมีการถ่ายทอดสด LIVE ทาง Facebook และ Youtube ของสภาคนพิการด้วย 
สมัชชาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยจะเป็นครั้งแรกที่สภาคนพิการจะดำเนินการจ่ายเงินค่าพาหนะและค่าตอบแทนต่างๆ โดยการโอนเงินผ่านระบบออนไลน์ Krungthai Corporate Online เพื่อให้เกิดความสะดวก โปร่งใส ตรวจสอบได้ อีกทั้งสภาคนพิการยังคงมุ่งหน้าพัฒนาไปสู่สังคมดิจิทัลที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยทุกท่านสามารถดูข้อมูลเกี่ยวกับงานสมัชชาครั้งนี้ได้ที่ เว็บไซต์สภาคนพิการ DTH.OR.TH ที่เพิ่งปรับปรุงโฉมใหม่ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม สวยกว่าเดิม และมีเนื้อหา Content มากขึ้นกว่าเดิม ขอย้ำอีกทีว่าสามารถเข้าไปดูได้ที่ DTH.OR.TH ครับ ซึ่งก็สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่รัฐสภาเพิ่งให้ความเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565

สุดท้ายผมขอแจ้งข่าวดีให้ท่านอธิบดีและทุกท่านทราบว่า เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของกระทรวงการคลัง ที่กำหนดให้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการนำเงินส่งคลังเป็นรายได้ของแผ่นดินเฉพาะส่วนที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท และยกฟ้องพก. กล่าวคือ ให้กระทรวงการคลังคืนเงินแก่กองทุนคนพิการ 1,000 ล้านบาทจากที่ยึดไป 2,000 ล้านบาท ซึ่งสภาคนพิการจะมีการอ่านแถลงประกาศชัยชนะหลังจากพิธีเปิดในวันนี้ครับ 
นอกจากนี้ในวันที่ 13 สิงหาคม 2565 ยังได้รับเกียรติ  "นางสาวสราญภัทร อนุมัติราชกิจ" อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  เป็นประธานกล่าวเปิดงานในครั้งนี้ด้วย พร้อมทั้งคณะกรรมการบริหาร
• นายชูศักดิ์ จันทยานนท์ นายกสมาคมสภาคนพิการฯ และนายกสมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม(ไทย)
• นางนุชจารี  คล้ายสุวรรณ นายกสมาคมเพื่อผู้บกพร่องทางจิตแห่งประเทศไทย และอุปนายกสภาคนพิการฯ คนที่ 1
• นายศุภชีพ ดิษเทศ นายกสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย และอุปนายกสภาคนพิการฯ คนที่ 2
• นายวิทยุต บุนนาค นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และอุปนายกสภาคนพิการฯ คนที่ 3
• นายเอกกมล แพทยานันท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย และอุปนายกสภาคนพิการฯ คนที่ 4
• นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย และอุปนายกสภาคนพิการฯ คนที่ 5 และเหล่าบรรดาสมาชิกของสภาคนพิการฯ เข้าร่วมงานกันยังพร้อมเพียง