อินโดนีเซีย ไม่ร่วมด้วยกับ 'สหรัฐฯ' เทแผนจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังเสาะหาแรงสนับสนุนจากพันธมิตรทางยุทธศาสตร์ในเอเชีย อย่างญี่ปุ่นและอินเดีย ในการกำหนดมาตรการจำกัดเพดานควบคุมราคาน้ำมันรัสเซีย แต่บรรดานักวิเคราะห์มองว่า อินโดนีเซียน่าจะปฏิเสธความพยายามล็อบบี้ดังกล่าว ซึ่งคาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์นี้

เอลิซาเบธ โรเซนเบิร์ก ผู้ช่วยรัฐมนตรีด้านต่อต้านเงินอุดหนุนก่อการร้ายและอาชญากรรมทางการเงิน อยู่ระหว่างเดินทางเยือนกรุงจาการ์ตา เป็นเวลา 2 วันในสัปดาห์นี้ เพื่อพบปะกับบรรดาผู้ช่วยรัฐมนตรีจากกระทรวงประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุน ผู้ช่วยรัฐมนตรีจากกระทรวงการคลัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีจากกระทรวงพลังงานและทรัพยากรเหมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของศูนย์รายงานและวิเคราะห์การทำธุรกรรมทางการเงิน เช่นเดียวบรรดาผู้นำภาคเอกชน

ระหว่างพบปะพุดคุยกับ โรเซนเบิร์ก ประณามสงครามที่ปราศจากการยั่วยุและไม่ชอบธรรมของรัสเซียในยูเครน และหารือถึงความพยายามต่างๆ ในการลดผลกระทบที่ลุกลามออกมาจากสงคราม ในนั้นรวมถึงความเป็นไปได้ของการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ถ้อยแถลงของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุ

โรเซนเบิร์ก สานต่อความพยายามของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ที่เคยเรียกร้องมาตรการนี้ระหว่างร่วมประชุมกับรัฐมนตรีคลังจี 20 และบรรดาผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศต่างๆ เมื่อเดือนกรกฎาคม โดยคราวนั้น เยลเลน ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศรีมุลยานี รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซีย และลูฮุท ปันด์จัยตัน ผู้ประสานงานกระทรวงกิจการทางทะเลและการลงทุน เรียกร้องให้พวกเขาสนับสนุนแผนกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย

ในตอนนั้น ศรีมุลยานี ตอบกลับเพียงว่า อินโดนีเซียจะพิจารณาผลที่ตามมาจากการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย เนื่องจากมันจะส่งผลกระทบต่อบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลาย รวมถึงประเทศผู้ซื้อด้วย

นอกเหนือจากอินโดนีเซีย สหรัฐฯ จะพูดคุยกับมาเลเซีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ด้วยเช่นกัน เพื่อโน้มน้าวให้สนับสนุนเป้าหมายของจี 7 ในการฉุดราคาน้ำมันรัสเซียให้ลดต่ำลง จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่วอชิงตันรายหนึ่งที่ให้สัมภาษณ์กับจาการ์ตาโพสต์

ถ้าจาการ์ตาสนับสนุนข้อเสนอนี้ เจ้าหน้าที่วอชิงตัน ซึ่งไม่ประสงค์เอ่ยนามอ้างว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะเป็นประโยชน์กับอินโดนีเซียเอง เพราะว่าปัจจุบันรัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนมากไปกับการอุดหนุนราคาน้ำมัน

ในปีนี้ อินโดนีเซียต้องจัดสรรงบประมาณไปแล้วกว่า 502 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 34,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากระดับ 170 ล้านล้านรูเปียห์ในปีที่แล้ว สำหรับอุดหนุนราคาพลังงาน สืบเนื่องจากราคาน้ำมันดิบพุ่งสูง ขณะที่ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ยอมรับเมื่อวันอังคาร (9 ส.ค.) ว่ามาตรการอุดหนุนน้ำมันในปัจจุบันนั้นใช้เงินมากเกินไป

ณ ที่ประชุมเมื่อเดือนมิถุนายน บรรดาผู้นำจี 7 บอกว่าจะพิจารณากำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย เพื่อควบคุมแหล่งเงินทุนทำสงครามของเครมลิน ด้วยที่คาดหมายว่ากลไกกำหนดเพดานนี้อาจเริ่มบังคับใช้ในวันที่ 5 ธันวาคม บรรดานักวิเคราะห์คาดว่า อินโดนีเซีย ไม่น่าจะสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวของจี 7 และพวกเขาคงอยากรอดูเสียก่อนว่าจีนกับอินเดีย จะเข้าร่วมในแผนการนี้หรือไม่

"ระหว่างกลุ่มประเทศจี 7 จีนและอินเดีย น่าจะพิจารณาในเรื่องนี้มากกว่าอินโดนีเซีย เนื่องจาก จีน เป็นหนึ่งในผู้นำเข้าน้ำมันรัสเซียรายใหญ่ที่สุด" Bhima Yudhistira ซีอีโอของศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจและกฎหมายในจาการ์ตากล่าว

Bhima อ้างด้วยว่าอินโดนีเซียมีหลักการนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระและคล่องตัว ซึ่งนั่นหมายความว่าอินโดนีเซียจะไม่เลือกฝ่ายไหน ไม่ว่าจะเป็นตะวันตกหรือรัสเซีย "อินโดนีเซียไม่น่าจะเข้ารวบมาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมัน เพราะนั่นอาจเท่ากับเป็นการสนับสนุนการคว่ำบาตรรัสเซีย และจนถึงตอนนี้ อินโดนีเซีย ไม่ต้องการเกี่ยวข้องด้วย"

ทั้งนี้ Bhima ระบุว่า อินโดนีเซียนำเข้าน้ำมันรัสเซีย ในปริมาณที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากบรรดาเทรดเดอร์น้ำมันดิบที่มีสำนักงานในสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจได้ว่า สหรัฐฯ พยายามโน้มน้าวให้ อินโดนีเซีย สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประธานปัจจุบันของจี 20 ซึ่งมีรัสเซียอยู่ในฐานะชาติสมาชิก

"สหรัฐฯ คาดหวังว่าอินโดนีเซียจะเพิ่มแรงกดดันทางการเมืองใส่รัสเซีย เพื่อยุติสงครามในยูเครน" Bhima ระบุ


(ที่มา : เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
https://mgronline.com/around/detail/9650000077020