หมดยุค...รักต้องฉุด!! ‘Franca Viola’ หญิงแกร่งคนแรกของอิตาลี ปฏิเสธธรรมเนียม ‘แต่งงานกับผู้ที่ลักพาตัว-ข่มขืน’ เพื่อรักษาเกียรติ

การลักพาตัวเจ้าสาว (Bride kidnapping) หรือรักต้องฉุด เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้มาตั้งแต่ครั้งยุคหินแล้ว เราท่านมักจะเห็นในการ์ตูนที่มีภาพของชายยุคหินถือตะบองอันโต ๆ ตีหัวหญิงสาวเพื่อนำมาเป็นภรรยา การฉุดหญิงสาวหรือเรียกกันว่าการแต่งงานโดยการลักพาตัวหรือการแต่งงานโดยการฉุดเจ้าสาวเป็นวิธีการปฏิบัติของชายที่ลักพาตัวหญิงสาวที่เขาปรารถนาจะแต่งงานด้วย การลักพาตัวเจ้าสาวเกิดขึ้นทั่วโลกและตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์และประวัติศาสตร์ ในสังคมผู้คนที่หลากหลายเช่น ชาวเขาบางเผ่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาว Tzeltal ในเม็กซิโก และชาวโรมานีในยุโรป ปัจจุบันรักต้องฉุดยังคงเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ทั่วโลก แต่พบได้มากที่สุดในแถบคอเคซัสและเอเชียกลางจนทุกวันนี้

ประเทศส่วนใหญ่เกือบทั้งโลกในปัจจุบัน ถือว่าการลักพาตัวเจ้าสาวเป็นอาชญากรรมทางเพศ เนื่องจากองค์ประกอบโดยนัยเป็นการบังคับขืนใจ มากกว่าเป็นรูปแบบในการแต่งงานที่ถูกต้อง บางสังคมอาจถูกมองว่าไปเป็นตามความต่อเนื่องระหว่างการบังคับแต่งงานหรือการแต่งงานแบบคลุมถุงชน ซึ่งบางครั้งสลับสับสนกับ ‘รักกันหนา พากันหนี’ ซึ่งทั้งคู่หนีไปด้วยกัน แล้วกลับขอความยินยอมจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิงในภายหลัง 

ในบางกรณีหญิงคนนั้นอาจให้ความร่วมมือหรือสมัครใจที่จะถูกฉุดไป แต่โดยทั่วไปแล้วจะพยายามรักษาชื่อเสียงหรือเกียรติยศให้กับตัวเองหรือพ่อแม่ของเธอ ในเขตอำนาจศาลหลายแห่ง กฎหมายนี้เคยได้รับการสนับสนุนโดยกฎหมายที่เรียกว่า ‘การแต่งงานเมื่อถูกข่มขืน (Marry-your-rapist laws)’ แม้แต่ในประเทศที่การปฏิบัตินั้นขัดต่อกฎหมาย หากแต่การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มแข็งเด็ดขาด กฎหมายที่มีลักษณะจารีตประเพณี (แนวปฏิบัติดั้งเดิม) ลักษณะก็อาจมีผลเหนือกว่า

 

ในอิตาลีก็เช่นกันมีคำว่า ‘Fuitina’ อันหมายถึง การหนีตามกันโดยสมัครใจของคู่หนุ่มสาวเพื่อใช้ชีวิตเป็นสามีภรรยากัน แต่กลับถูกเหมารวมถึงการลักพาตัวเจ้าสาว ซึ่งไม่ได้สมัครใจด้วย 

แต่กรณีของ Franca Viola หญิงสาวผู้เด็ดเดี่ยวกลับไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากปฏิเสธ ‘การแต่งงานเพื่อเป็นการรักษาเกียรติหรือหน้าตา (Matrimonio riparatore)’ กับผู้ที่ฉุดและข่มขืนเธอ หลังจากถูกลักพาตัว และถูกจับตัวไว้นานกว่าสัปดาห์ แล้วยังถูกข่มขืนอีกหลายครั้ง นับว่าเธอผู้หญิงอิตาลีคนแรกที่ถูกฉุดและข่มขืนแล้วปฏิเสธการแต่งงานกับผู้ที่ฉุดและข่มขืนเธอ ทั้งเธอยังประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีกับผู้ที่ฉุดและข่มขืนเธออีกด้วย 

ผลการพิจารณาคดีนี้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางในอิตาลี เนื่องจากพฤติกรรมของ Viola ถูกมองว่าขัดแย้งกับธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคมแบบดั้งเดิมในอิตาลีตอนใต้  โดยที่หญิงสาวจะต้องเสียเกียรติหรือหน้าตา หากเธอไม่ยอมแต่งงานกับชายที่เธอสูญเสียพรหมจรรย์ให้ Franca Viola จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมและการปลดปล่อยของเหล่าสตรีในอิตาลีภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

Franca Viola เกิดเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ ในเขตชนบทของเมือง Alcamo ในซิซิลี ประเทศอิตาลี เธอเป็นลูกสาวคนโตของ Bernardo Viola ชาวนา และ Vita Ferra ในปีพ.ศ. ๒๕๐๖ เมื่ออายุได้ ๑๕ ปี เธอได้หมั้นกับ Filippo Melodia ซึ่งขณะนั้นอายุ ๒๓ ปี เป็นหลานชายของ Vincenzo Rimi มาเฟียใหญ่ 

ต่อมา Melodia ถูกจับในข้อหาลักขโมย และพ่อของ Viola ยืนยันว่า เธอได้ขอถอนหมั้นแล้ว จากนั้น Melodia ก็ย้ายไปเยอรมนี ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ Viola หมั้นกับชายหนุ่มอีกคนหนึ่ง แต่แล้ว Melodia ก็กลับมาที่เมือง Alcamo และพยายามกลับเข้าไปในชีวิตของ Viola แต่ไม่สำเร็จ โดยเขาพยายามสะกดรอยตามเธอ และคุกคามทั้งพ่อและแฟนของเธอ

ในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ Melodia และกลุ่มเพื่อนอีก ๑๒ คนพร้อมอาวุธได้บุกเข้าไปในบ้านของ Viola และลักพาตัว Viola โดยลากเธอเข้าไปในรถ มีการทุบตีแม่ของ Viola และพา Mariano น้องชายวัยแปดขวบของ Viola ไปด้วย โดย Mariano ได้รับการปล่อยตัวในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา 

แต่ Viola ถูกกักขังไว้เป็นเวลาแปดวันในบ้านของพี่สาวของ Melodia และสามีของเธอ ซึ่งเป็นบ้านไร่ในเขตชานเมือง ซึ่งเธอถูก Melodia ข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่า Melodia บอกเธอว่า ตอนนี้เธอจะต้องแต่งงานกับเขาเพื่อไม่ให้กลายเป็นผู้หญิงที่ ‘เสียเกียรติ’ แต่ Viola ตอบว่าเธอไม่ต้องการแต่งงาน และยิ่งไปกว่านั้น เธอจะแจ้งความจับเขาในข้อหาลักพาตัวและข่มขืน 

วันที่ ๓๑ ธันวาคม Melodia ได้ติดต่อ Bernardo พ่อของ Viola เพื่อขอ Paciata (ขอขมา) Bernardo แสร้งทำเป็นยอมเจรจาด้วย โดยบอกว่าเขาตกลงและยินยอมให้มีการแต่งงาน ขณะที่แอบร่วมมือกับตำรวจ Carabinieri (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ในการเตรียมปฏิบัติการจับกุมซึ่งประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา Viola ได้รับการปล่อยตัว และ Melodia ผู้ลักพาตัวของเธอถูกจับเมื่อวันที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เจ็ดวันก่อนวันเกิดปีที่สิบแปดของเธอ เธอบอกว่าพ่อของเธอซึ่งได้ถามเธอว่า เธอต้องการจะแต่งงานกับ Melodia จริง ๆ ไหม และเมื่อเธอตอบว่า ‘ไม่’ เขาจึงบอกเธอว่า เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเธอ

การที่ Melodia เสนอให้ Viola แต่งงานเพื่อเป็นการรักษาเกียรติหรือหน้าตา แต่เธอปฏิเสธจึงขัดกับสิ่งที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วไป ตามบรรทัดฐานทางสังคมแบบดั้งเดิมในสังคมซิซิลีในสมัยนั้น และการที่เธอตัดสินใจเลือกทางนี้ทำให้เธอกลายเป็น 'ผู้หญิงที่ไร้เกียรติ' (Donna svergognata) เนื่องจากเธอสูญเสียพรหมจรรย์ทั้งที่ยังไม่ได้แต่งงาน (แม้ว่าจะถูกบังคับข่มขืนก็ตาม)

แนวความคิดเหล่านี้ไม่ได้มีเฉพาะในซิซิลีหรือพื้นที่ชนบทของอิตาลีเท่านั้น แต่ยังปรากฏเป็นนัยในประมวลกฎหมายอาญาของอิตาลีในสมัยนั้นด้วย เช่น มาตรา ๕๔๔ ซึ่งถือว่าการข่มขืนเป็นอาชญากรรมที่ขัดต่อ ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’ มากกว่าความผิดส่วนตัว (ทำให้ดูเหมือนว่าเป็นความผิดที่ไม่รุนแรง) และทำให้แนวคิดเรื่อง ‘การแต่งงานเพื่อเป็นการรักษาเกียรติ’ (Matrimonio riparatore) เป็นผลดีต่อผู้ข่มขืนไปอย่างเป็นทางการ โดยระบุว่า หากผู้ข่มขืนแต่งงานกับเหยื่อของเขาแล้ว ข้อมูลอาชญากรรมของเขาจะถูกลบล้างโดยอัตโนมัติ


Filippo Melodia ขณะถูกดำเนินคดี

แต่หลังจากที่ Viola ปฏิเสธที่จะแต่งงานกับผู้ที่ลักพาตัวและข่มขืนของเธอ ปรากฏว่า สมาชิกในครอบครัวของเธอถูกคุกคาม ถูกข่มเหงรังแกโดยชาวบ้านส่วนใหญ่ในเมือง Alcamo ไร่องุ่นและยุ้งฉางของพวกเขาถูกลอบเผาทำลาย เหตุการณ์เหล่านี้และการพิจารณาคดีในท้ายที่สุดได้สร้างผลสะท้อนอย่างทรงพลังต่อสื่ออิตาลีและสาธารณชน จนรัฐสภาต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง 

เนื่องจากเห็นได้ชัดว่าส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายที่มีอยู่ขัดแย้งกับความคิดเห็นของประชาชน ทนายของ Melodia อ้างว่า Viola ยินยอมให้ทำ Fuitina โดยสมัครใจเพื่อแต่งงานอย่างลับ ๆ แทนที่จะถูกลักพาตัว แต่การพิจารณาคดีซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ตัดสินให้ Melodia มีความผิด เขาถูกตัดสินจำคุก ๑๑ ปี ต่อมาลดเหลือ ๑๐ ปี เพื่อนของเขาห้าคนพ้นผิด และคนอื่น ๆ ได้รับโทษที่ไม่รุนแรง Melodia ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ และถูกฆ่าตาย (ด้วยวิธีการแบบมาเฟีย) ในวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๑ ก่อนที่เขาจะได้กลับไปยังซิซิลี


สมเด็จพระสันตะปาปา Paul ที่ ๖ ได้ทรงต้อนรับ Franca Viola และ Giuseppe Ruisi เป็นการส่วนพระองค์

กฎหมายมาตราที่ผู้ข่มขืนสามารถที่จะพ้นผิดทางอาญาได้ด้วยการแต่งงานกับเหยื่อของเขายังไม่ถูกยกเลิกจนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๒๔ และความรุนแรงทางเพศกลายเป็นอาชญากรรมต่อบุคคล (แทนที่จะเป็น ‘ศีลธรรมอันดีของประชาชน’) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ 

ต่อมา Franca Viola แต่งงานกับ Giuseppe Ruisi ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ เมื่อเธออายุเกือบจะครบ ๒๑ ปี พวกเขาชอบพอกันมาตั้งแต่เด็ก โดย Ruisi ทำงานเป็นนักบัญชี และยืนยันว่า เขาจะแต่งงานกับผู้หญิงที่เขารักมานาน แม้จะมีเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย แต่เขาต้องขอใบอนุญาตพกอาวุธปืนหลังจากได้รับใบอนุญาตการแต่งงาน เพื่อป้องกันตัวเองและเจ้าสาวของเขา 

ประธานาธิบดี Giuseppe Saragat แห่งอิตาลี และสมเด็จพระสันตะปาปา Paul ที่ ๖ ได้แสดงความซาบซึ้งต่อความกล้าหาญของ Franca Viola และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของ Franca Viola กับ Giuseppe Ruisi โดยประธานาธิบดี Saragat ได้ส่งของขวัญแต่งงานให้ทั้งคู่ และสมเด็จพระสันตะปาปา Paul ที่ ๖ ก็ได้ทรงต้อนรับทั้งคู่เป็นการส่วนพระองค์หลังจากทั้งคู่ได้ทำพิธีแต่งงานไม่นาน Viola และ Ruisi มีลูกสามคน เป็นชายสองคน และหญิงหนึ่งคน ปัจจุบันครอบครัวนี้ยังคงอยู่ในเมือง Alcamo ในซิซิลี ประเทศอิตาลี


Franca Viola ในราวปี พ.ศ. ๒๕๕๗ หรือ ๒๕๕๘


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ