3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ศาลรธน.วินิจฉัย ‘ทักษิณ’ พ้นผิดคดีซุกหุ้น กับตำนานวลีการเมือง “บกพร่องโดยสุจริต”

วันนี้ในอดีต 3 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘ทักษิณ’ พ้นผิด ‘คดีซุกหุ้น’ ด้วยมติเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 เสียง จนเกิดวลีอันลือลั่น “บกพร่องโดยสุจริต” 

สำหรับ ‘คดีซุกหุ้น’ เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2543 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ที่มีนายโอภาส อรุณินท์ เป็นประธาน ตัดสินด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 ระบุว่า ‘ทักษิณ ชินวัตร ’ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540  ต่อมาวันที่ 18 ม.ค. 2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของ ป.ป.ช. ไว้พิจารณา

จากนั้นกระบวนการไต่สวนก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง โดยทางฝ่าย ป.ป.ช. มีตัวแทน คือ นายกล้านรงค์ จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น ขณะที่ ‘ทักษิณ’ ต้องเปลี่ยนทนายหลายชุดเพื่อรับมือกับลีลาการซัก-ถาม ของ นายกล้านรงค์ ที่ถึงลูกถึงคน และนายกล้านรงค์ อ้างถึง การตรวจสอบของ ป.ป.ช. พบว่าระหว่างปี 2535, 2536 และ 2539 ‘ทักษิณ’ มีการโอนหุ้นในหลายบริษัทให้กับคนขับรถ แม่บ้านและคนเลี้ยงเด็กเพื่อเป็นการปกปิดอำพราง 

ส่วนทางฝ่าย ‘ทักษิณ’ ต้องตั้งรับการรุกของ ป.ป.ช. อย่างหนัก จนถึงขั้นต้องเชิญนายประสิทธิ์ ดำรงชัย หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น และกรรมการเสียงข้างน้อย ให้เข้าเป็นพยานและให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสนับสนุน ‘ทักษิณ’ และยืนยันว่า ‘ทักษิณ’ ไม่น่าจะจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สิน

กระทั่งวันที่ 18 มิ.ย. 2544 ‘ทักษิณ’ ก็ถูกแรงกดดันให้ต้องเข้าแถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเองเกี่ยวกับคดีดังกล่าว พร้อมยืนยันว่าการให้คนอื่นถือหุ้นแทน เป็นไปตามหลักของธุรกิจและถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องของ ‘แบบฟอร์ม’ การแจ้งทรัพย์สินที่ไม่ชัดเจน พร้อมกับการยกคำพูดที่ลือลั่นมาจนถึงขณะนี้ นั่นก็คือ การกระทำของตนและภรรยานั้น น่าจะถือเป็น ‘การบกพร่องโดยสุจริต’

และระหว่างที่รอศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ก็มีกระแสกดดันต่างๆ มากมายถาโถมมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งธงเหลือง การออกมาสนับสนุน ‘ทักษิณ’ ของผู้อาวุโสของสังคม การล่าชื่อนับแสนชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญยื้อเรื่องนี้ออกไปเพื่อช่วยเหลือ ‘ทักษิณ’ โดยเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับสถานการณ์และผลประโยชน์ของประเทศชาติ

จนมาถึงวันที่ 3 ส.ค. 2544 ซึ่งเป็นวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติคำวินิจฉัยกลางในคดีนี้  ผลออกมา 8 ต่อ 7 เสียง ให้‘ทักษิณ’ พ้นผิดในคดีซุกหุ้นอย่างหวุดหวิด โดยเห็นว่า ไม่ได้กระทำการปกปิดหรือยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยว่า ‘ทักษิณ’ ไม่มีเจตนาปกปิดทรัพย์สิน 8 คนนั้น ประกอบด้วย นายกระมล ทองธรรมชาติ, นายอนันต์ เกตุวงศ์ ,พล.ท จุล อติเรก, นายปรีชา เฉลิมวณิชย์, นายผัน จันทรปาน, นายศักดิ์ เตชาชาญ, นายจุมพล ณ สงขลา และนายสุจินดา ยงสุนทร

ส่วนตุลาการเสียงข้างน้อย 7 คนที่วินิจฉัยว่า ‘ทักษิณ’ จงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินฯ ประกอบด้วย นายประเสริฐ นาสกุล, นายอมร รักษาสัตย์, นายสุจิต บุญบงการ, นายมงคล สระฏัน, นายสุวิทย์ ธีรพงษ์, นายอุระ หวังอ้อมกลาง และนายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ

ภายหลังจากรอดพ้นจาก ‘คดีซุกหุ้น’ ส่งผลให้ ‘ทักษิณ’  ซึ่งขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีกลายเป็น ‘พยัคฆ์ติดปีก’ ทางการเมืองในเวลาต่อมา ก่อนจะถูกทำรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 และพัวพันกับการทุจริตหลายคดี จนต้องหนีไปอาศัยอยู่ต่างประเทศจนถึงทุกวันนี้


อ้างอิง : https://www.komchadluek.net/today-in-history/290504