'ศูนย์จีโนมฯ' เผยอย่าเหมารวมฝีดาษลิงเป็น ‘โรคชายรักชาย’ ชี้!! ไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมโรค และส่งผลลบแก่ LGBTQ+

วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กให้ความรู้เพิ่มเติมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโรคฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง (Monkey pox) ว่า... 

โรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อที่แพร่กระจายผ่านผิวหนังสู่ผิวหนัง จากสารคัดหลั่ง ของเหลว และวัสดุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส เช่น ผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว เป็นต้น

ทั้งนี้ ไวรัสฝีดาษลิงนอกทวีปแอฟริกาขณะนี้มีการแพร่ระบาดคล้ายโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (sexually transmitted diseases : STD) แต่ไม่ใช่โรค STD เพราะพบการติดต่อในเด็กเล็กและสตรีด้วย นอกจากนี้โรคฝีดาษลิงไม่ใช่โรคของเกย์ (gay) หรือ ชายรักชาย (Men who have sex with men : MSM) เพราะในแอฟริกานั้น โรคฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นสตรีและเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีสาเหตุเกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ ถูกสัตว์กัด ข่วน รับประทานเนื้อสัตว์ป่าปรุงไม่สุก

การเหมารวมว่า โรคฝีดาษลิงเป็นโรคของชายรักชาย อาจทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า 'บาดแผลทางสังคม' หรือ social stigma ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการควบคุมโรค และเป็นผลลบกับกลุ่มชายรักชาย หรือ แอลจีบีทีคิว พลัส (LGBTQ+) โดยรวม ดังตัวอย่างที่เห็นชัดเจน จากกรณีของโรคโควิด-19 คือ การกล่าวว่า ชาวจีนเป็นผู้แพร่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เกิดการเกลียดชังและทำร้ายคนเอเชียในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เป็นต้น


ที่มา : https://www.naewna.com/local/669910