‘ศาสน์-กษัตริย์’ เสาหลักค้ำจุนกันและกัน

คำยืนยันจากหลวงปู่มั่น!! ‘ศาสน์-กษัตริย์’ เปรียบเสมือนเสาหลักค้ำจุนกันและกัน...เมื่อใดขาดธรรมราชา เมื่อนั้นอาจถึงคราวสาบสูญของพระอริยะ!!

เรื่องของพระอริยบุคคลนี้ พระอาจารย์มั่นปรารภไว้หลายสถานที่ หลายวาระต่าง ๆ กัน แล้วแต่เหตุ
ท่านกล่าวว่า ชาวพุทธมีหลายประเทศ แต่จะขอกล่าวเฉพาะที่ใกล้เคียง คือ เขมร ลาว เวียดนาม และพม่า นอกนี้ไม่กล่าว

พระอาจารย์มั่นบอกว่า…

“เราไม่ได้ว่าเขาเหล่านั้น...แต่ได้พิจารณาแล้ว ไม่มีก็ว่าไม่มี มีก็ว่ามี”
ท่านหมายถึงว่า พระอริยบุคคลในประเทศเหล่านี้มีที่ประเทศพม่าเพียงคนเดียว อยู่ในหมู่บ้านที่ท่านไปจำพรรษา เป็นผ้าขาว (อุบาสกผู้ถือศีล) ซึ่งเล่ากันว่า บุตรสาว บุตรเขย และบุตรชายของผ้าขาวคนนั้นล่ะ ที่มาจัดเสนาสนะของบิดาเพื่อถวายพระอาจารย์มั่นและท่านเจ้าคุณบุญมั่นครั้งจำพรรษาที่ประเทศพม่า

ท่านว่า...

“ยกเว้นสยามประเทศแล้ว...นอกนั้นไม่มี!
สำหรับสยามประเทศตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงปัจจุบัน...มีติดต่อมาโดยไม่ขาดสาย ทั้งคฤหัสถ์ชายหญิงและบรรพชิต แต่มรรคขั้นต้นคฤหัสถ์มากกว่าทั้งปริมาณ และมีสิกขาน้อยกว่า”

พระอาจารย์มั่นกล่าวต่อไปว่า
“เราไม่ได้ว่าเขา! เราไม่ได้ดูหมิ่นเขา! เพราะประเทศเหล่านั้นขาดความพร้อมคือคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น เรื่องอักขระที่ไม่เป็นพุทธภาษา (คือเป็น ‘ฐานกรณ์วิบัติ’) และองค์ประกอบอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือ ‘องค์พระมหากษัตริย์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา’...นี้ก็สำคัญ ขาดไม่ได้ ถ้าขาดไป อริยบุคคลก็ขาดไปด้วย!!”

ท่านยังกล่าวอีกว่า

“เมื่อพระพุทธเจ้าจะประกาศพระศาสนา ทรงหาหลักค้ำประกันอันมั่นคง คือมุ่งไปที่พระเจ้าพิมพิสาร...ความสำคัญอันนี้มีมาตลอด หากประเทศใดไม่มีองค์ประกอบนี้ซึ่งเป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก...ก็ปฏิเสธได้เลย
เปรียบเหมือนกับก้อนเส้า (ก้อนหินที่นำมาตั้งเป็นเตาทำอาหาร) สามก้อน ก้อนที่หนึ่งคือความเป็นชาติ ก้อนที่สองมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ก้อนที่สามมีพระมหากษัตริย์เป็นเอกอัครศาสนูปถัมภก หากขาดไปก้อนใดก้อนหนึ่งก็จะขาดความสมบูรณ์ไป ไม่สามารถจะใช้นึ่งต้มแกงหุงหาอาหารได้”

ที่มา : หนังสือ ‘รำลึกวันวาน’ (หนังสือรวบรวมเกร็ดประวัติ ปกิณกธรรม และพระธรรมเทศนาแห่งหลวงปู่มั่น จากบันทึกความทรงจำของหลวงตาทองคำ จารุวัณโณ)


ที่มา : https://www.tnews.co.th/variety/300317?fbclid=IwAR2g73vdvHOZXCMAp92Ft2M4nfxlcOzjCEvNf4vcMsjkfCveY9KnXlBqchM