'เพนกวิน' ปลุกเลิก ‘ชนชั้นในภาษาไทย’ แนะปรับหลักสูตรวรรณกรรมไทยให้เข้าใจง่ายขึ้น

(7 ก.ค.2565) นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ในเรื่องของภาษา ผมคิดว่าเราต้องมีการปรับปรุงภาษาเราใหม่โดยการลด ละ เลิกการใช้ภาษาลิเกโดยไม่จำเป็น เช่น ลดการใช้คำบาลีสันสกฤตที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น (Westernization อัสดงคตานุวัตร ควรใช้เป็น การทำให้เป็นแบบตะวันตก/การปรับตามตะวันตก) ตำรับตำราเขียนด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจง่ายที่สุด และที่สำคัญที่สุด ลดหรือเลิกชนชั้นในภาษา

ทุกวันนี้ภาษาไทยมีชนชั้นในภาษาเยอะมาก เฉพาะ I นี่พูดได้เกือบ 20 แบบ ตั้งแต่ “ข้าพระพุทธเจ้า” ไปยัน “กู” แยกตามเพศ วัย และชนชั้น ควรจะลดการแบ่งแยกนี้ให้เหลือน้อยที่สุด โดยรวมคือลดภาษาลิเกในชีวิตประจำวัน ใช้เท่าที่จำเป็น ภาษาลิเกควรอยู่ในลิเก วรรณกรรม อะไรก็ตามที่จรรโลงใจ

ก่อนกระแสตื่นรู้ของนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ในจีนเมื่อปี 1919 คนจีนก็เขียนหนังสือด้วยภาษาลิเก (อารมณ์เหมือนบทพูดหนังจีนกำลังภายใน) จนมีการประท้วงในปีนั้นจึงเกิดกระแสความคิดแบบใหม่ คือเกิดปัญญาชนคนทั่วไป ซึ่งพยายามผลิตภาษาและองค์ความรู้ที่เข้าถึงง่าย เป็นของสามัญชน โดยสามัญชน เพื่อสามัญชน

หมายเหตุ: การลด ละ เลิกภาษาลิเกไม่ได้ทำให้ศัพท์น้อยลง แค่ทำให้ศัพท์มันเข้าใจง่ายขึ้น กลวิธีหนึ่งที่ฝ่ายศักดินาใช้สกัดประชาธิปไตยของคนธรรมดาคือทำศัพท์ให้เป็นแบบลิเก เช่น อำนาจสูงสุด ก็ไปเรียกว่าอำนาจอธิปไตย กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็ไปเรียกว่าประชาธิปไตย (สมัยก่อนคำนี้แปลว่า Republic)

หมายเหตุ2: ถ้าอยากให้คนไทยรู้จักคำศัพท์ประณีตมากขึ้นก็ต้องปรับปรุงหลักสูตรวิชาวรรณกรรมไทย ทุกวันนี้เรียนกันน่าอดสูมาก เรียนวรรณคดีเหมือนมีวรรณคดีไว้กราบ ไว้บูชา ไม่ได้ส่งผลให้คนเรียนเข้าใจการใช้ภาษามากขึ้นเท่าไหร่เลย


https://www.thaipost.net/x-cite-news/176179/