2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 วันประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ปฐมบทสู่ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’

วันนี้เมื่อ 25 ปีก่อน ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท หลังจากถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างหนัก ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนจาก 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ พุ่งขึ้นไปที่ 40 บาททันที

วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 วันอีกหนึ่งวันที่คนไทยหลายคนยังจดจำไม่ลืม เมื่อรัฐบาลไทยในสมัย พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างหนัก จากอัตราแลกเปลี่ยน 25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปทันทีที่ 40 บาท และไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึง 52 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลายบริษัทที่ไปกู้เงินดอลลาร์สหรัฐมาลงทุน

จากภาวการณ์ลดลงของค่าเงินบาทได้ส่งผลต่อภาระหนี้ต่างประเทศเป็นอันมาก เพราะดอกเบี้ยที่ต้องชำระคืนเพิ่มสูงเป็นอันมาก (ก่อนเกิดวิกฤต กู้มาในอัตราเพียง 1 ดอลลาร์เท่ากับ 25 บาท) ในปี 2533 ประเทศไทยเป็นหนี้ต่างประเทศ 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มเป็น 82,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2539 และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ไทยเป็นหนี้ต่างประเทศสูงถึง 109,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จำแนกเป็นหนี้ภาครัฐ 24,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้ภาคเอกชน 85,200 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นภาครัฐเท่ากับร้อยละ 22.5 และหนี้ภาคเอกชนเท่ากับ 77.5 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

จากวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและได้ขยายไปสู่ประเทศต่างในเอเชียอย่างรวดเร็ว จนถูกขนานนามว่า ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ ที่คนทั่วโลกรู้จักกันดี

วิกฤตครั้งนั้น ยังส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเป็นอันมาก โดยในช่วง 3 ปีแรกของแผนฯ 8 (พ.ศ. 2540 – 2542) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบคือ เท่ากับ –2.6 โดยที่ภาคเกษตรกรรมขยายตัวเท่ากับร้อยละ 0.8 และภาคอุตสาหกรรมเท่ากับร้อยละ 0.4 ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีผลให้รายได้ของคนไทยลดลงในปี พ.ศ. 2540 รายได้ประชาชาติต่อหัวต่อปีของคนไทยเท่ากับ 75,991 บาท และลดลงเท่ากับ 73,771 บาท ในปี 2542 นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงได้สร้างแรงกดดันให้ต้นทุนวัตถุดิบที่เป็นสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น รวมทั้งค่าขนส่งและค่าบริการสาธารณูปโภคสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ในปี พ.ศ. 2540 อัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปีสูงขึ้นอยู่ในระดับร้อยละ 6 และเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 8.1 ในปี พ.ศ. 2541 

นอกจากนี้จำนวนคนว่างงานเนื่องมาจากการถูกปลดออกเนื่องจากการล้มละลายของธุรกิจก็เพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเกือบ 1 ล้านคน


อ้างอิง : https://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom6/03-02.html