‘Hachiko & Capitan’ สุนัขยอดกตัญญู เพื่อนแท้ของมนุษย์ ตราบสิ้นลมหายใจ



Harry S. Truman อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า “หากคุณต้องการเพื่อนแท้ใน Washington D.C. ให้หาสุนัขมาเลี้ยง” 

ซึ่ง ‘ฮาจิโกะ’ สุนับสายพันธุ์อากิตะ อินุ ในญี่ปุ่น และ ‘Capitan’ (หรือ Captain ในภาษาอังกฤษ) สุนัขสายพันธุ์ German shepherd ในอาร์เจนตินา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า “สุนัขเป็นเพื่อนแท้ของมนุษย์ แม้กระทั่งภายหลังความตาย” 

รูปปั้นของฮาจิโกะกับศาสตราจารย์อูเอโนะ ผู้เป็นเจ้าของ 

ในประเทศญี่ปุ่นมีเรื่องของ ‘ฮาจิโกะ (Hachiko)’ สุนัขซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ ‘ฮาจิโกะ สุนัขยอดกตัญญู’ โดยเป็นสุนัขสายพันธุ์อากิตะ อินุ (Akita Inu) 

สุนัขสายพันธุ์อากิตะ อินุ มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เกาะฮอนชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมถูกใช้เป็นสุนัขอารักขาให้กับโชกุน และใช้เป็นสุนัขสำหรับการล่าสัตว์ มีทักษะในการดมกลิ่น การมองเห็น และการได้ยินในระดับสูง 

 

 

ภาพถ่ายของฮาจิโกะ

สำหรับเจ้า ‘ฮาจิโกะ’ นั้นกลายเป็นสัญลักษณ์ถึงความจงรักภักดีอันน่าทึ่ง จากการที่มันเฝ้ารอการกลับมาของศาสตราจารย์อูเอโนะ ภาควิชาการเกษตรกรรมแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ผู้เป็นเจ้าของ ณ สถานีรถไฟชิบูยะ หลังจากที่ ศ.อูเอโนะเสียชีวิตทุกวันเป็นเวลากว่า ๙ ปี จนกระทั่งมันตาย 

รูปปั้นของฮาจิโกะ ที่ ชิบูยะ กรุงโตเกียว

‘ฮาจิโกะ’ กลายเป็นสัญลักษณ์ของความสัตย์ซื่อ หนุ่มสาวญี่ปุ่นจะไปสัญญารักต่อกันหน้ารูปหล่อของฮาจิโกะที่สถานีรถไฟดังกล่าว

‘Capitan’ สุนัขยอดกตัญญูแห่งอาร์เจนติน่า

ส่วนในประเทศอาเจนติน่า Miguel Guzman ชายชาวอาร์เจนติน่าได้ซื้อลูกสุนัขพันธุ์ German shepherd ตัวหนึ่งมาเป็นของขวัญเซอร์ไพรส์ให้กับ Damian ลูกชายวัย ๑๓ ปีของเขา ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ แล้วตั้งชื่อว่า ‘Capitan’ ต่อมาในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ Miguel ก็เสียชีวิตลง แล้วหลังจากนั้นไม่นาน ‘Capitan’ ก็หายตัวไปจากบ้าน และครอบครัว Guzman ก็คิดว่า มันคงได้บ้านใหม่ หรือไม่ก็ตายไปแล้ว

ครอบครัว Guzman กับ ‘Capitan’

หลายเดือนต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เมื่อครอบครัว Guzman ไปเยี่ยมหลุมฝังศพของ Miguel ที่สุสาน Villa Carlos Paz ก็พบว่า ‘Capitan’ นั่งเฝ้าข้างๆ หลุมศพของ Miguel ผู้เจ้าของ 

โดย Hector Baccega ผู้อำนวยการสุสาน Villa Carlos Paz บอกว่า “มันนอนอยู่ข้างหลุมศพของ Miguel ทุกคืน โดยเจ้าหน้าที่ของสุสานและผู้ที่พบเห็นต่างก็พากันให้อาหารกับ ‘Capitan’ ทุกวัน”

แม้ว่า Damian ลูกชายของ Miguel จะพยายามพา ‘Capitan’ กลับบ้าน แต่มันก็จะวิ่งกลับไปที่สุสานฯ ทุกครั้ง แต่สิ่งที่ทำให้ครอบครัว Guzman ประหลาดใจที่สุดคือ สุสาน Villa Carlos Paz อยู่ห่างไกลจากบ้านของพวกเขามาก อีกทั้ง ‘Capitan’ ก็ไม่เคยไปที่สุสานฯ ที่ฝัง Miguel กับพวกเขาเลย”

Capitan ใช้ชีวิตในสุสานที่ฝัง Miguel เป็นส่วนใหญ่

Veronica ภรรยาม่ายของ Miguel บอกกับหนังสือพิมพ์ Cordoba ของอาร์เจนตินาว่า "เราตามหามัน แต่มันหายตัวไป เราคิดว่า มันคงถูกรถชนตายเสียแล้ว เมื่อเราไปที่สุสานฯ ในวันอาทิตย์หนึ่ง และเจอ Capitan ซึ่ง Damian จำมันได้ทันที Capitan เข้ามาหาเรา มันเห่า และคร่ำครวญราวกับว่า มันกำลังร่ำไห้”

เธอเสริมว่า "เราไม่เคยพามันไปที่สุสานฯ เลย ดังนั้นจึงเป็นเรื่องแปลกที่มันสามารถหาสุสาน Villa Carlos Paz ที่ฝัง Miguel จนเจอ เมื่อเรากลับไปในวันอาทิตย์ต่อมา แล้วก็พบว่ามันยังอยู่ที่นั่นอีก คราวนี้มันยอมตามเรากลับมาบ้าน และใช้เวลากับเราบ้าง แต่แล้วมันก็กลับไปสุสานฯ ก่อนมืด ฉันคิดว่า มันคงไม่อยากทิ้ง Miguel ในตอนกลางคืนไว้เพียงลำพัง” 

Damian ลูกชายของ Miguel บอกว่าเขาพยายามพา Capitan กลับบ้านหลายครั้ง แต่มันก็ย้อนกลับไปที่สุสานฯ อยู่เสมอ 

เขาเสริมว่า “ผมคิดว่า มันยังคงคอยดูแลพ่อของผมอยู่ และคงจะอยู่ที่นั่นจนกว่าจะตาย”
 

ในทุกๆ วัน Capitan จะเดินไปรอบๆ สุสาน Villa Carlos Paz กับ Hector Baccega ผู้อำนวยการสุสานฯ

นอกจากนี้ Hector Baccega ผู้อำนวยการสุสานฯ ได้เสริมว่า “จู่ ๆ เจ้า Capitan ก็ปรากฏตัวขึ้นที่สุสานฯ โดยไม่มีใครพามันมา แล้วมันก็เริ่มเดินเตร็ดเตร่ไปทั่วจนที่สุดก็พบหลุมฝังศพของ Miguel ผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งสุสานฯ จะไม่ปิดประตูจนกว่าจะ ๖ โมงเย็น แม้ว่าทุกวัน Capitan มักจะเดินไปรอบๆ สุสานฯ กับผม แต่พอถึงเวลา ๖ โมงเย็นแล้วมันก็จะไปที่หลุมฝังศพของเจ้านายที่มันรัก และมันจะไปนอนข้างๆ หลุมศพตรงนั่นตลอดทั้งคืน จนกว่าเจ้าหน้าที่สุสานฯ จะเปิดประตูสุสานในตอนเช้า”

“Capitan ให้บทเรียนกับเราที่ทำให้ผมเชื่อว่า มนุษย์ควรจดจำความทรงจำของผู้ที่จากไปมากกว่านี้ สัตว์ตัวนี้สอนความรักและซื่อสัตย์เช่นนี้แก่มนุษย์เรา” 

หลังจากนอนเฝ้าหลุมศพของเจ้านายทุกคืนเป็นเวลากว่า ๑๑ ปี ‘Capitan’ ก็สิ้นอายุขัยลงในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๑


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์โญธิน มานะบุญ เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.โญธิน%20มานะบุญ