3 สาวพี่น้องอินเดียยอมฆ่าตัวตาย หนี 3 สามี ‘ทารุณ-ทุบตี-รีดไถ’
พี่สาวน้องสาวชาวอินเดีย 3 คน ฆ่าตัวตาย หนีการทารุณกรรมและความรุนแรงในครอบครัวของฝ่ายสามี ที่เป็น ‘พี่ชายน้องชาย 3 คน’ ซึ่งอาศัยในบ้านเดียวกัน
กลายเป็นอีกคดีที่สร้างความสะเทือนใจแก่สังคมอินเดียอย่างมาก และกำลังปลุกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงค่านิยม ‘ปิตาธิปไตย’ (สังคมชายเป็นใหญ่) ที่ครอบครัวฝ่ายหญิงต้องจ่ายสินสอดมหาศาลให้กับฝ่ายชาย เพื่อให้บุตรสาวออกเรือนอีกครั้ง
โดยเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อ 3 สาวชาวอินเดีย ที่มีชื่อว่า คาลู, คามเลช และ มัมตา นามสกุล ‘มีนา’ พวกเธอแต่งงานกับพี่ชายน้องชาย 3 คน ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน
ครอบครัวฝ่ายหญิงจ่ายสินสอดมหาศาลให้ครอบครัวฝ่ายชาย ตามธรรมเนียมนิยมอินเดีย แต่เมื่ออาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันแบบ 3 คู่สามีภรรยาแล้ว ฟากฝ่ายหญิงทั้ง คาลู, คามเลช และ มัมตา กลับถูกทำร้ายร่างกาย ทารุณกรรม จากทั้งตัวสามีของพวกเธอ และครอบครัวของฝ่ายชายเสมอมา ขณะเดียวกัน ฝ่ายชายก็ยังเรียกร้องขอเงินเพิ่มจากครอบครัวฝ่ายภรรยา เมื่อให้ไม่ได้ ก็ลงไม้ลงมือกับภรรยาของตนเองอีกด้วย
ภายใต้ความรุนแรงดังกล่าวที่เกิดขึ้นในครอบครัวนี้อย่างต่อเนื่อง ในระหว่างที่ คาลู ได้มีลูกชายวัย 4 ขวบ 1 คน และลูกวัยทารก 1 คน ขณะที่คามเลช และมัมตาเอง ก็กำลังตั้งครรภ์นั้น ก็ได้เกิดเรื่องน่าเศร้า เมื่อวันหนึ่งมีคนพบศพของ 3 สาวพี่น้อง รวมถึงลูกๆ ของเธอในบ่อน้ำ พร้อมด้วยจดหมายลาตาย ซึ่งโพสต์ผ่านข้อความใน WhatsApp (แอปพลิเคชันยอดนิยมในอินเดีย) ระบุว่า...
“เราไม่อยากจะตาย แต่ความตายยังดีกว่าต้องทนการทารุณของพวกเขา”
“พ่อและแม่สามี ผลักดันให้เราเลือกทางตาย และเราขอตายพร้อมกัน (3 พี่น้อง) ดีกว่า ต้องตายทั้งเป็นอยู่ทุกวัน”
ด้าน ซาร์ดาร์ มีนา ซึ่งเป็นพ่อของสามสาวพี่น้อง ยอมรับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า... “ชีวิตของลูก ๆ เหมือนตกนรกทั้งเป็น สามีของพวกเธอไม่ยอมให้พวกเธอมีการศึกษา และรังควานครอบครัวไม่หยุด เพื่อขอเงินเพิ่มเติม ทั้งที่เราให้พวกเขาไปมากมายแล้ว ดูของที่อยู่ในบ้านพวกเขาสิ”
“ผมเป็นพ่อลูกสาว 6 คน ผมให้ได้ไม่มากหรอก...แค่ให้การศึกษาลูก ๆ ผมก็ลำบากมากแล้ว” ซาร์ดาร์ ที่มีอาชีพเป็นชาวนา รายได้ไม่มาก บอกกับสำนักข่าว AFP
ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมสามีทั้ง 3 คน แม่ของพวกเขา รวมถึงพี่เขย (ผู้หญิง) ในข้อหารีดไถเงินสินสอด และการทารุณกรรม
สำหรับเหตุการณ์นี้ ถือเป็นเรื่องของหลักธรรมเนียมที่ยังหลงเหลืออยู่ในสังคมอินเดีย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท ผู้คนยังยึดติดกับขนบเก่า ๆ ซึ่งสถาบันครอบครัวในแถบชนบทมองว่า ลูกสาวเป็นภาระของครอบครัว ดังนั้น การที่ครอบครัวฝ่ายชายจะเรียกร้องเงินสินสอด เพื่อรับผู้หญิงมาเป็นสะใภ้ในบ้าน (มองว่าเพิ่มภาระ) เป็นสิ่งชอบธรรม
อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลอินเดีย ก็กำหนดให้การจ่ายค่าสินสอดเป็นพฤติกรรมผิดกฎหมายตั้งแต่เมื่อกว่า 60 ปีก่อน และการคุกคามหรือรีดไถค่าสินสอดเป็นความผิดทางอาญา
ที่มา: TNN World
https://www.facebook.com/351495409269379/posts/738192887266294/