‘กรมสมเด็จพระเทพฯ’ ต้นแบบของผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้ ทรงศึกษาบาลี-สันสกฤต เพราะอยากเข้าใจบทสวดมนต์

เพจ ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา ได้โพสต์ข้อความถึงใฝ่เรียน ใฝ่ศึกษาของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  ว่า 

สาเหตุที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร  มีความสนพระทัยในภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต เนื่องมาจากไม่สามารถเข้าพระทัยบทสวดมนต์ที่เป็นภาษาบาลีที่ทรงได้ยินได้ฟังอยู่เป็นประจำ ทำให้มีพระราชประสงค์ที่จะทรงศึกษาตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา และทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงเลือกวิชาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก วิชาภาษาไทยและวิชาภาษาบาลี-สันสกฤตเป็นวิชาโท ทรงศึกษาไวยากรณ์พื้นฐานจนถึงขั้นสูง 

นอกจากนี้ยังทรงศึกษาปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงทรงรอบรู้ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ในจารึกที่พบในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิทยานิพนธ์เรื่อง จารึกที่พบที่ปราสาทพนมรุ้ง เป็นงานวิจัยที่พระองค์ทรงแปลจารึกภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต โดยมีศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี ผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤต และศาสตราจารย์โคลด ชาร์ค ผู้เชี่ยวชาญการอ่านจารึก ร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบวิทยานิพนธ์ซึ่งได้วิจารณ์ว่า “…วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เป็นงานที่ยากและดีมาก เขียนอย่างมีระเบียบและมีวิธีการวิจัยที่ดี…”


  ที่มา : กองงานในพระองค์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
https://www.facebook.com/313531368854007/posts/pfbid02ctbypBRCoDciL9UqcwuK65JCaW2EVYSqYxD247WVMLL2NdX7LbMqJRNDNoqnRaHbl/