‘อนุชา’ ยันต้องดำเนินคดี ‘หมอปลา’ ชี้ จิตใจไม่ปกติ กำชับสำนักพุทธฯ ดูแลแล้ว

‘อนุชา’ ยันต้องดำเนินคดี ‘หมอปลา’ ตามกฎหมาย ชี้ทำไม่ถูกเป็นคนจิตใจไม่ปกติ ยันให้สำนักพุทธฯดูแดลแล้ว เผยคนอวดอุตริ-ปาราชิกมีมาแต่ 2,500 ปี ย้ำไม่นิ่งนอนใจ แต่เป็นฆราวาสไม่อยากพูดมาก
.
วันนี้ ( 17 พ.ค.) นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงข้อพิพาทระหว่างฆราวาสกับสงฆ์ว่า อยู่ระหว่างให้สำนักพระพุทธฯ ดำเนินการในส่วนที่จำเป็นไม่ได้สั่งให้สำนักพุทธตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ แต่มีมานานแล้ว
.
ส่วนข้อกังขาเรื่องความศรัทธาของคณะสงฆ์นั้น นายอนุชา กล่าวว่าพระพุทธศาสนา มีมาตั้ง 2500 ปี ศาสนาพุทธไม่ต้องพึ่งคนใดคนหนึ่งมาบริหารจัดการองค์กรพุทธ ซึ่งเรามีตัวแทนพระเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าดูแลมาตลอดไม่ต้องพึ่งพาบุคคลใด ว่าจะมาดูแลศาสนาซึ่งการกระทำดูเหมือนดีแต่ทำให้คนมองผ้าเหลือง มองศาสนาไปอีกแบบการกระทำเช่นนี้ทำถูกแล้วหรือไม่ ระยะยาวทำไม่ถูกแน่นอน โดยผู้ที่ทำนั้นมีจิตใจไม่ปกติ ซึ่งกรณีของนายจีรพันธ์ เพชรขาว หรือ หมอปลาให้เป็นไปตามกฎหมายอะไรที่นักกฎหมายบอกว่ายอมไม่ได้เป็นอาญาแผ่นดินก็ต้องเป็นเช่นนั้นซึ่งสำนักพุทธและที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ
.
นายอนุชา ปฏิเสธว่าไม่ใช่สำนักพุทธฯไม่เข้มแข็งในการที่จะตรวจตรากวดขันพระ ซึ่งทำมาตลอด ซึ่งมีมติของมหาเถรสมาคมให้ดูแลจะเป็นลำดับชั้นมีความรับผิดชอบและต้องตั้งบทลงโทษของพระแต่ละลำดับชั้น ยอมรับว่าหลายอย่างเรื่องฝ่ายสงฆ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่ได้บอกสื่อ โดยความเชื่อความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนยังคงมีอยู่ในสังคม ส่วนที่ไม่เชื่อหรือไม่ศรัทธาก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ คำสั่งสอนพระพุทธเจ้าที่มีมาตั้งแต่อดีตปาราชิกก็มีมาแต่อดีต และเรื่องคนอวดอุตริ ก็มี แสดงว่ามีความศรัทธามีความจริงที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่อดีตไม่ใช่ว่ามาบอกจะจัดการพระพุทธศาสนา

ส่วนการชี้แจงที่ดูเหมือนล่าช้านั้น นายอนุชากล่าวว่าการชี้แจงต้องเข้าใจว่ายุคปัจจุบันเป็นโลกแห่งการสื่อสารจำนวนมากไม่อยากเห็นความแตกแยกในสังคมที่มีมากไปกว่านี้ เช่นตนเองก็เป็นฆราวาส พูดมากไปจะเท่ากับว่าฆราวาสมาวิเคราะห์วิจารณ์เสียเองซึ่งบางครั้งก็คิดว่าไม่ถูกต้อง ต้องรอให้บางอย่างมันปรากฏในเรื่องความเชื่อความศรัทธา

ทั้งนี้ กรรมาธิการศาสนาที่มีมติมา 4 ร่างเสนอมาที่ครม.เรื่องคดีอาญาระหว่างพระสงฆ์กับสีกาด้วยนั้นนายอนุชากล่าวว่าจะต้องมีการพูดคุยกันขณะนี้ยังไม่อยากให้ลงลึกไปมาก ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยแต่ต้องมีการพูดคุยกันในวงกว้างก่อน ไม่ใช่ว่าอะไรที่คิดว่าแก้ไขเฉพาะเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเท่านั้น บางครั้งหลักการของประเทศลงมติตัดสินใจด้วย ต้องมีจุดยืน มีความเข้มแข็ง ไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนจุดยืนประเทศได้ บางครั้งตนมีความอดทนอดกลั้นก็เพื่อไม่เป็นส่วนหนึ่งในการยิ่งพูดยิ่งเป็นประเด็นในเรื่องการศาสนาเพราะตนเป็นฆราวาสคนหนึ่งที่ไม่ต้องการให้พระพุทธศาสนาซึ่งเป็นเสาหลักของชาติสั่นคลอน รับรองได้เลยว่าเรื่องนี้อยู่ในใจของตนแน่นอน อาจจะเหลืออดอยู่หลายครั้งแต่ก็ต้องอดทนอยู่ในใจ