สืบสานกว่า 100 ปี!! ‘เครื่องแบบนักเรียน’ เมื่อแรกมีในไทย สู่ความภาคภูมิใจแห่งสถาบันศึกษา 

การแต่งเครื่องแบบมีพื้นฐานจากการแต่งตัวให้เข้ากับกาลเทศะ ความเหมาะสมของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เครื่องแบบของนักเรียนชายส่วนใหญ่ ประกอบด้วยกางเกงขาสั้นหรือกางเกงขายาว เสื้อเชิ้ตสีขาว ขณะที่เครื่องแบบนักเรียนหญิงจะต่างกันในแต่ละประเทศและระบบการศึกษาของโรงเรียน อีกทั้งมีการออก พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน มาบังคับใช้ด้วย เพื่อส่งเสริมความมีระเบียบวินัย และเป็นการคุ้มครอง มิให้บุคคลอื่นใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่ง

โรงเรียนในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นก็ทรงให้มีโรงเรียนสำหรับสามัญชนตามมา และได้มีพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน ปี 2482 ออกมาบังคับใช้

หลังจากใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน พบว่าบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน จึงยกเลิกพระราชบัญญัติฯ ปี 2482 แล้วให้ใช้ พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 แทน โดยกำหนดให้มีเครื่องแบบนักเรียนไว้เป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการประหยัดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย

สำหรับวิวัฒนาการของเครื่องแบบนักเรียนไทย ดร.อาทร จันทวิมล อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรึกษาหอประวัติศาสตร์กระทรวงศึกษาธิการได้เคยให้ข้อมูลเอาไว้ว่า ยุคแรกของการศึกษาไทย การเรียนการสอนมีขึ้นที่วัดโดยพระเป็นผู้สอนหนังสือ ต่อมาเมื่อมีโรงเรียนหลวง โรงเรียนราษฎร์ เกิดขึ้น ก็มีการบังคับใช้ เครื่องแบบนักเรียน ตามมา

ส่วนที่มาของเครื่องแบบนักเรียน พบว่าในปี ค.ศ.1846 ได้ปรากฏภาพเจ้าชายเอ็ดเวิร์ดของอังกฤษ (โอรสพระราชินีวิคตอเรีย) ทรงแต่งชุดกะลาสีเผยแพร่ทางหนังสือพิมพ์ ชุดดังกล่าวจึงกลายเป็นที่นิยมของเด็กๆ ทั่วโลก จากนั้นมีการนำชุดกะลาสีไปเป็นแบบฟอร์มชุดนักเรียนในสหรัฐอเมริกา และแพร่ขยายต่อไปยังเยอรมนี  ญี่ปุ่น และประเทศไทย

สำหรับประเทศไทยเรามีวิวัฒนาการมาหลายยุคหลายสมัย อาทิ ในยุคหนึ่ง เครื่องแบบนักเรียนไทยในยุคหนึ่งต้องสวมหมวกด้วย โดยเกิดขึ้นในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหมวกที่ทำด้วยวัสดุหลายรูปแบบ ฯลฯ ถือว่าเป็นยุคที่นักเรียนสวมหมวกเป็นเครื่องแบบเป็นยุคแรก 

บางโรงเรียนใช้เครื่องแบบเป็น "ชุดราชปะแตน" นอกจากนี้ยังพบว่ามีบางโรงเรียนมีเครื่องแบบนักเรียนคล้ายชุดทหาร นั่นคือ "โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย" เนื่องจากโรงเรียนนี้มีจุดเริ่มต้นจากโรงเรียนในพระบรมมหาราชวัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นโรงเรียนเป็นการฝึกหัดบุคคลเข้ารับราชการทหาร เครื่องแต่งกายจึงใช้แบบทหาร

ต่อมาโรงเรียนถูกเปลี่ยนฐานะเป็นโรงเรียนสำหรับพลเรือน เครื่องแต่งกายของนักเรียนจึงเปลี่ยนไป โดยในยุคแรกเครื่องแบบนักเรียนใช้เป็น "เสื้อราชปะแตน นุ่งผ้าโจงกระเบน สวมถุงเท้ายาวสีขาวพับขอบบน รองเท้าหนังสีดำ"

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เครื่องแบบโรงเรียนนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นกางเกงตัดเป็นจีบ รูดเลยหัวเข่าคล้ายโจงกระเบน ต่อมาเปลี่ยนรูปแบบเป็นกางเกงขาสั้นแคบสีดำ เสื้อคงเดิม และสวมหมวกยาวปีกกลมคาดแถบผ้าสีเหลือง ตรงกลางหน้าหมวกมีเข็มกลัดโลหะอักษร สก. จากนั้นเครื่องแบบนักเรียนถูกเปลี่ยนอีกครั้ง กลายเป็นเสื้อเชิ้ตสีขาว กางเกงขาสั้นสีกากี และพัฒนามาเป็นกางเกงขาสั้นสีดำ

ชุดเครื่องแบบ นักเรียนชาย-นักเรียนหญิง ทั่วไป ชุดนักเรียนที่พบเห็นส่วนใหญ่ สำหรับโรงเรียนรัฐบาล นักเรียนชายจะเป็นเสื้อแบบเชิ้ตแขนสั้น กางเกงสีกากี บางโรงเรียนใช้กางเกงสีดำ ส่วนผู้หญิงก็เป็นเสื้อคอปกใหญ่สีขาว กระโปรงสีน้ำเงินหรือสีดำ อาจมีโบว์ผูกที่คอเสื้อด้วย

ขณะที่โรงเรียนเอกชน โรงเรียนนานาชาติ ก็มีเครื่องแบบที่เหมาะสมของแต่ละโรงเรียน โดยกระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้แต่ละโรงเรียนพิจารณาและดำเนินตามกฎระเบียบที่กำหนด

นอกจากนี้ก็เริ่มมีพัฒนาการอื่นๆ เช่น การปักเลขประจำตัวนักเรียน ปักกระเป๋าเสื้อ บางโรงเรียนติดเข็มโรงเรียนแทนการปักชื่อโรงเรียน เป็นต้น

“เครื่องแบบนักเรียน คือความภาคภูมิใจ” ปฏิเสธไม่ได้ว่าสำหรับบางคน การได้สวมใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนที่ตนเองสอบเข้าได้นั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง อีกทั้งชุดนักเรียนยังมีบทบาทต่อการตัดสินใจเข้าเรียนในสถานศึกษา โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กจะเห็นว่า โรงเรียนบางแห่งออกแบบยูนิฟอร์มสวยงามชวนสวมใส่ เป็นต้น

ด้วยรูปแบบชุดที่มีเอกลักษณ์ของแต่ละโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐบาล เอกชน สาธิต หรือนานาชาติ เครื่องแต่งกายยังมีความหมายบ่งบอกถึงรูปลักษณ์การจัดการเรียนการสอน และเป็นเครื่องบอกเล่าประวัติความเป็นมาของโรงเรียนอีกด้วย


ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/social/910481
https://kitnew.co/thestudytimes/2022050902