'คลังมะกัน' เตือน 'ยุโรป' แบนพลังงานรัสเซีย อาจไม่สะเทือนหมี แต่เสี่ยงกระทบศก.ตัวเอง
AFP รายงานว่า เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐเตือนว่า การห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซของรัสเซียในยุโรปอาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยไม่ได้ตั้งใจ
ที่ผ่านมาชาติยุโรปถูกสหรัฐฯ กดดันให้หยุดซื้อพลังงานจากรัสเซียเพื่อลดรายได้รัสเซีย โดยบรรดาประเทศใหญ่ๆ ในยุโรป รวมทั้งเยอรมนีต้องเผชิญกับการเรียกร้องให้หยุดซื้อพลังงานจากรัสเซีย เพื่อตัดรายได้ และเป็นการลงโทษที่รัสเซียรุกรานยูเครน จนผู้คนต้องอพยพหนีภัยสงครามแล้วกว่า 5 ล้านคน
หลังจากพบปะหารือกับ เดนิส ชไมฮาล นายกรัฐมนตรียูเครน และเซอร์เก มาร์เชนโก รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของยูเครนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เยลเลน ก็ได้เผยกับผู้สื่อข่าวว่า การแบนดังกล่าว ในท้ายที่สุดแล้วอาจก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี
“แน่นอนว่ายุโรปจำเป็นต้องลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย แต่เราต้องระมัดระวังหากจะแบนการนำเข้าน้ำมันโดยสิ้นเชิง” เยลเลนกล่าว
รัฐมนตรีคลังกล่าวต่อว่า การแบนพลังงานของยุโรปจะทำให้ราคาน้ำมันโลกสูงขึ้น “และอาจขัดกับความรู้สึกบ้างที่มันอาจส่งผลกระทบในทางลบกับรัสเซียน้อยมาก เนื่องจากแม้ว่ารัสเซียจะส่งออกน้อยลง แต่ราคาน้ำมันที่รัสเซียส่งออกจะสูงขึ้น”
เยลเลนกล่าวถึงการแบนในอนาคตว่า “หากเราสามารถหาวิธีที่จะทำอย่างนั้นได้โดยไม่ทำร้ายทั้งโลกจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะดีมาก”
ทั้งนี้ สหรัฐฯ แบนการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรอื่นๆ ที่พุ่งเป้าไปที่เศรษฐกิจของรัสเซีย ซึ่งมาตรการส่วนใหญ่เหล่านี้จะสอดคล้องกับมาตรการของยุโรปและพันธมิตรในแถบอื่น
ขณะที่สหภาพยุโรปซึ่งนำเข้าก๊าซจากรัสเซียราว 45% กำลังพิจารณาขยายมาตรการคว่ำบาตรให้รวมถึงการห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซ แต่เจ้าหน้าที่หลายรายเผยกับ AFP เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มาตรการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน
ฟาก IMF ระบุว่า สงครามในยูเครนจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจยูโรโซน โดยลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้เหลือ 2.8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.9% เมื่อเดือน ม.ค.
อย่างไรก็ดี ปิแอร์ โอลิวิเยร์ กูรินชาส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ IMF เผยว่า ความเสี่ยงหลักต่อแนวโน้มดังกล่าวคือ การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบนก๊าซของรัสเซีย ซึ่งจะทำให้เกิดการชะลอตัว "ค่อนข้างรุนแรง" ในระยะสั้นในประเทศต่างๆ เช่น เยอรมนี และหากเป็นเช่นนั้น “เราจะปรับลดการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของยูโรโซน”