รู้จัก ‘ไวยาวัจกร’ ทำหน้าที่อะไร หลังเกิดเหตุยักยอกเงินวัดบวรฯ 190 ล้าน
สรุปปมมือมืดใกล้ชิด “สมเด็จวันรัต” ก่อเหตุฉกทรัพย์ “วัดบวรฯ และวัดสาขา” 190 ล้าน ไล่เลียงจากจุดเริ่มต้นถึงล่าสุด พร้อมไปทำความรู้จักตำแหน่ง “ไวยาวัจกร” มือการเงินดูแลทรัพย์สินของวัดทั่วไทย
วันที่ 4 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีกระแสข่าวลูกศิษย์ใกล้ชิดสมเด็จพระวันรัต อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ที่ถึงแก่มรณภาพไปเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถอนเงินในบัญชีของวัดบวรนิเวศฯ และวัดวชิรธรรมาราม วัดสาขา รวม 190 ล้านบาทไปใช้ส่วนตัว
ต่อมามีการเปิดเผยว่า บุคคลที่กระทำแบบนี้คือ “นายเนย” หรือ “นายอภิรัตน์ ชยางกูร ณ อยุธยา” อดีตเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ กองโครงการธุรกิจ 2 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เบื้องต้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งดำเนินคดี 4 ข้อหา ประกอบด้วย ฉ้อโกง, ลักทรัพย์, ปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม และฟอกเงิน และได้ควบคุมตัวนายอภิรัตน์ไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังจากพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัวในชั้นศาลของการผัดฟ้องฝากขังครั้งแรก
>> สรุปที่มา-คืบหน้าล่าสุด <<
สำหรับที่มาของคดีนี้มาจากมีรายงานข่าวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มีผู้ลักลอบเอาเงินจากบัญชีของสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศไปประมาณ 200 ล้านบาท ทำให้คนตั้งคำถามถึงวัดและตัวสมเด็จผู้ล่วงลับว่า ทำอะไรมาถึงมีเงินมากมายขนาดนี้?
เนื่องจาก สมเด็จพระวันรัตในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ก่อนที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อัมพร อมฺพโร) จะเข้ามารับตำแหน่งเมื่อครั้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี 2560
โดยธรรมเนียมของธรรมยุตจะถือธรรมเนียมปฏิบัติเคร่งครัดกว่าพระมหานิกาย โดยเฉพาะในเรื่องการจับต้องเงินทอง จะเคร่งครัดกว่าพระมหานิกาย ซึ่งจะไม่มีการจับต้องเลย หรืออย่างมากที่สุด จึงใช้ใบปวารณาแทน กระทั่งเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น จึงอาจส่งผลต่อความเชื่อศรัทธาต่อหมู่สงฆ์ได้
ต่อมาคืนวันที่ 2 เมษายน 2565 เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา ออกมาโพสต์ข้อความแก้ข่าวว่า
#สมเด็จรูปนี้ไม่มีเงินส่วนตัว
เห็นข่าวกรณีไอ้เนย อมเงินวัดไปหลายร้อยล้าน เห็นหลายคนแทนที่จะด่าโจร กลับเสือกมาด่าพระ ผมขอชี้แจงตามความรู้อันน้อยนิดของผมดังนี้นะครับ
1.) สมเด็จฯ ไม่มีเงินส่วนตัวนะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีวัดที่ท่านปกครองหรือเคยปกครอง ทั้งในนามเจ้าอาวาส (วัดบวรฯ) ในนามรักษาการเจ้าอาวาส (วัดมกุฎ/วัดตรีฯ) ในนามวัดที่ท่านสร้างเองกับมือ (ตราด/บางปะหัน) และในนามมูลนิธิฯ ต่างๆ
2.) บัญชีส่วนตัวเดียวที่มีคือบัญชีปี 43 ในนามพระพรหมมุนี (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นบัญชีตาย ไม่เคยถอน ทิ้งไว้เฉยๆ ไม่มีใครทราบยอด
3.) บัญชีเพื่อสาธารณกุศล เช่น สมเด็จพระวันรัตเพื่อกองทุนโรคหัวใจ หรือ สมเด็จพระวันรัตเพื่อพระบาลี เป็นต้น
ดังนั้น การที่คนขับรถธรรมดา จะไปถอนเงินออกจากบัญชีต่างๆ เหล่านี้ได้ เราควรโทษพระที่ตายไปเหรอครับ ทำไมไม่ด่าโจร ด่าระบบคณะสงฆ์ และด่าระบบสถาบันการเงิน ที่เอาเงินออกไปจากระบบ แต่กลายเป็นสังคมทำไมต้องมาก่นด่าพระที่เป็นมะเร็งตาย ทำไมพระถึงต้องถูกด่าโดยที่ไม่รู้เรื่องอะไร
ย้ำนะครับ
คนตายไม่เคยสะสมทรัพย์สินส่วนตัว มีแต่ดูแลทรัพย์สินคณะสงฆ์ส่วนกลาง ทรัพย์สินคณะธรรมยุติ ทรัพย์สินวัด ทรัพย์สินสาธารณกุศล
อย่าไปป้ายสีคนตายว่าเอาเงินไปให้กัน คนตายพูดไม่ได้ แต่เส้นทางทางการเงินที่ตำรวจมีมันชัดนะครับ
ว่า…..
สมเด็จฯ ท่านไม่ได้ให้ แต่โจรมันยักย้ายออกมาเอง
อย่าไปด่าพระ กรุณาด่าโจร
#เข้าใจตรงกันนะครับ
ครั้นล่วงเข้าเช้าวันที่ 3 เมษายน 2565 เพจเฟซบุ๊ก ข่าวสารงานพระพุทธศาสนา โพสต์ข้อความอีก และคราวนี้เป็นแถลงการณ์ของวัดบวรนิเวศวิหาร ใจความว่า
ด้วยสมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 มีการตรวจสอบทรัพย์สินและบัญชีของวัดบวรฯ กับของวัดอื่น ๆ ที่อยู่ในความดูแลของเจ้าประคุณสมเด็จฯ
พบหลักฐานว่ามีบุคคลกระทำการโดยมิชอบนำทรัพย์สินและเงินในบัญชีของวัดไปเป็นของตนเองโดยทุจริตจึงมีการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ และเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามได้กระทำการจับกุมผู้กระทำความผิดไปเรียบร้อยแล้ว
คดีอยู่ในระหว่างการฝากขังชั้นสอบสวน เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
จึงแถลงมาเพื่อทราบ
จากจุดนี้ จึงนำมาสู่การเปิดโปงพฤติกรรมของลูกศิษย์ใกล้ชิดในที่สุด ซึ่งหากว่ากันตามหน้าที่แล้ว ถือว่าลูกศิษย์คนนี้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็น “ไวยาวัจกร” เลยทีเดียว
แต่แน่นอนว่า ด้วยความคลุมเครือและความไม่ชัดเจนของวงการดงขมิ้น หรือวงการสงฆ์เมืองไทย ทำให้หลายครั้งกว่าเรื่องจะแดง ก็ต้องรอให้ความเสียหายเกิดขึ้นหนัก ๆ ระดับร้อยล้านบาทก่อน
สำหรับตำแหน่งคนถือเงินของวัด หรือ “ไวยาวัจกร” คือ เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ช่วยเหลือวัดในการดูแล, รักษา และจัดการทรัพย์สินของวัดตามที่เจ้าอาวาสมอบหมาย โดยเป็นไปตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2535 และกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 18 (2536)
หน้าที่สำคัญของไวยาวัจกรมี 2 หน้าที่คือ
1.) เบิกจ่ายนิตยภัต (เงินเดือนพระ)
2.) ดูแล, รักษา, จัดการ ทรัพย์สินของวัด
โดยทั้ง 2 หน้าที่ จะต้องได้รับมอบหมายจากเจ้าวัดอาวาสเป็นหนังสือทางการก่อน
สำหรับเกณฑ์คฤหัสถ์ที่จะมาเป็นไวยาวัจกร มีดังนี้
ชายไทย นับถือพระพุทธศาสนา
อายุ 25 ปีขึ้นไป
มีหลักฐานมั่นคง
มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่นี้ได้
เลื่อมใสในการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ
ไม่เป็นผู้ที่มีร่างกายทุพพลภาพ ไร้ความสามารถ หรือมีจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ รวมไปถึงการเป็นโรคที่สร้างความรังเกียจของสังคม
ไม่เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดี เช่น ชอบเสเพล, นักเลงพนัน เสพสุรา-ยาเสพติดเป็นประจำ
ไม่เป็นหนี้สินล้นพ้นตัว
ไม่เคยถูกจำคุกมาก่อน เว้นโทษลหุหรือความผิดอันได้กระทำการโดยประมาท
การแต่งตั้ง ตามมติมหาเถรสมาคมที่ 18 (2536) ข้อ 7 ระบุว่า อำนาจในการแต่งตั้งให้เป็นอำนาจของเจ้าอาวาสวัดนั้น ๆ ปรึกษาสงฆ์ในวัด เพื่อเลือกคฤหัสถ์ขึ้นมารับหน้าที่นี้ โดยจะต้องมีคุณสมบัติตามข้างต้นด้วย เมื่อคณะสงฆ์เห็นชอบใคร เจ้าอาวาสสั่งแต่งตั้งได้ โดยต้องขออนุมัติเจ้าคณะอำเภอด้วย ซึ่งจะแต่งตั้งคนเดียว หรือหลาย ๆ คน ก็ได้
แบบหนังสือตั้งไวยาวัจกร ภาพจากหนังสือคู่มือไวยาวัจกร จัดพิมพ์โดยสำนักงานศาสนสมบัติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เมื่อปี 2550
ทั้งนี้ ในหนังสือคู่มือได้ระบุถึงความรับผิดชอบของไวยาวัจกรด้วยว่า มีภาระใน 2 ข้อคือ
ทางแพ่ง เพราะไวยาวัจกรเสมือนเป็นตัวแทนวัด มีฐานะกระทำการแทนนิติบุคคล ตามมาตรา 13 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 หากกระทำการใดที่มิชอบ แล้วมีผลกระทบต่อวัด, เจ้าอาวาส หรือบุคคลภายนอกวัด ไวยาวัจกรคนนั้นต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะ 15 ตัวแทน
ทางอาญา เพราะตามมาตรา 45 พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 ระบุว่า ไวยาวัจกรเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามความในประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น ไวยาวัจกรเมื่อไปกระทำความผิด หรือถูกผู้ใดกระทำความผิด จะยึดกฎหมายเดียวกันกับเจ้าพนักงานในการกำหนดโทษนั่นเอง
อย่างกรณีที่ไวยาวัจกรไปยักยอก หรือเบียดบังทรัพย์สินของวัดเป็นของตัวเอง อันอยู่ในความครอบครองของตนตามหน้าที่ จะต้องมีความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตามมาตรา 147 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท
นี่คือความหมาย การมาของตำแหน่ง และภาระความรับผิดชอบในตำแหน่ง “ไวยาวัจกร” ที่ขณะนี้สายตาทุกคู่จับจ้องไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร ที่กำลังเกิดคดีดังสนั่นทุ่งดงขมิ้นอีกครั้ง