สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยการกู้เงินนอกระบบ การทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย การปล่อยกู้ที่ไม่ได้รับอนุญาต มีโทษหนักถึงจำคุก

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเตือนภัยการกู้เงินนอกระบบ โดยปัจจุบันยังคงอยู่ในห้วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของประชาชนบางส่วน จึงมีความจำเป็นต้องไปกู้เงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งก็มีเหล่ามิจฉาชีพที่ฉวยโอกาสนี้แฝงตัวมาในรูปแบบของแหล่งเงินกู้นอกระบบและได้กระทำความผิดรูปแบบต่างๆ โดยการกระทำความผิดที่พบคือการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราและการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย เป็นต้น

ดังเช่นกรณีที่ปรากฏบนสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อช่วงเย็นวันที่ 26 มี.ค. 65 เกิดเหตุมีผู้ถูกยิงได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 ราย บริเวณซอยสุริโยทัย 2 เยื้องการประปาลพบุรี ต.ทะเลชุบศร อ.เมือง จว.ลพบุรี ทั้งคู่เป็นพนักงานขับรถส่งน้ำแข็งของบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งกำลังขับรถกระบะจำนวน 2 คันเพื่อออกไปส่งน้ำดื่มและน้ำแข็ง โดยบนถนนมีปลอกกระสุนขนาด 9 มม. ตกอยู่ 3 ปลอก ที่เสาไฟฟ้าหน้าห้องเช่าเลขที่ 11 ซ.สุริโยทัย 2 และที่กำแพงรั้วใกล้กันพบร่องรอยถูกยิงเป็นรูอยู่ 2 จุด ที่พื้นพบคราบเลือดกระเซ็น รวมทั้งที่ประตูรถด้านขวารถกระบะส่งน้ำดื่ม เบื้องต้นตำรวจได้สอบสวนนายจ้างให้การว่าผู้ก่อเหตุเป็นชาย อายุ 50 ปี และอีกคนเป็นหญิง อายุประมาณ 40 ปี ซึ่งฝ่ายหญิงอ้างว่าเป็นพนักงานของบริษัทไฟแนนซ์ได้ติดตามรถคันดังกล่าวมาขับปาดหน้ารถตู้ทึบตรงจุดเกิดเหตุ โดยบอกกับผู้บาดเจ็บทั้ง 2 รายว่า จะมายึดรถกระบะคันตู้ทึบส่งน้ำแข็ง เนื่องจากค้างค่างวด โดยที่ไม่ได้มีบัตรประจำตัว หรือใบมอบอำนาจมาแสดงผู้บาดเจ็บทั้ง 2 รายจึงไม่ยอม เพราะไม่แน่ใจ รวมทั้งไม่สามารถตัดสินใจแทนเจ้าของรถได้ ซึ่งผู้ก่อเหตุก็พยายามที่จะดึงกุญแจรถไป แต่ผู้บาดเจ็บไม่ให้ และยังให้หญิงสาวขึ้นไปนั่งรอบนรถกระบะคันที่จะยึดต่อมาไม่นานนายจ้างก็มาถึงจุดเกิดเหตุ พยายามพูดคุย เจรจาต่อรองและขอส่งน้ำแข็งให้ลูกค้าที่บรรทุกมาเต็มคันรถก่อน แต่ผู้ก่อเหตุไม่ยอม พยายามจะแย่งกุญแจรถคืนให้ได้ นายจ้างพยายามขอร้อง ต่อรองอีกครั้งแต่ไม่เป็นผล จึงได้เข้าไปดึงตัวหญิงเพื่อให้ออกมาจากรถ ผู้ก่อเหตุเห็นจึงเดินไปหยิบปืนจากในรถแล้วเล็งยิงมาที่กลุ่มนายจ้างจึงพากันวิ่งหนี ทำให้ถูกทั้ง 2 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังก่อเหตุผู้ก่อเหตุ็ได้ขับรถหลบหนีไป กระทั่งเวลาประมาณ 19.00 น.วันที่ 26 มี.ค. 65 ผู้ก่อเหตุได้เดินทางเข้าไปมอบตัวกับพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป  

ความคืบหน้าในทางคดีขณะนี้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำพยาน รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องและจะดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาผู้ต้องหาที่ก่อเหตุเพื่อดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป  โดยขณะนี้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ได้เสียชีวิตแล้ว ส่วนอีกรายอาการยังสาหัส และจากการสอบสวนเบื้องต้นผู้ก่อเหตุอ้างว่าไม่ได้เป็นพนักงานไฟแนนซ์ มีเพียงหญิงอายุ 40 ปี ที่เป็นพนักงาน ส่วนมูลเหตุในคดีเบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากกรณีที่เพื่อนสาวผู้ก่อเหตุถูกกลุ่มผู้ตายและผู้บาดเจ็บลากตัวออกมาจากรถ จึงทำให้เกิดอารมณ์ชั่ววูบไปคว้าปืนในรถออกมายิงก่อเหตุ

การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปี และความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ  มาตรา 8 ทวิ ห้ามมิให้ผู้ใดพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นฯ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี  หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท รวมถึงหากมีการทวงหนี้โดยฝ่าฝืน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะการข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การใช้วาจาดูหมิ่นหรือการเปิดเผยข้อมูลการเป็นหนี้ของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนผู้ที่กระกอบธุรกิจสินเชื่อโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 100,000-500,000 บาทและการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และหากมีการตรวจสอบพบทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิด ก็อาจมีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งการไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ​ (บก.ปอศ.) ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ​ (ศปน.ตร.) และหน่วยงานอื่นๆ ในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เร่งทำการสืบสวนสอบสวนปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ รวมถึงนายทุนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกรายอย่างจริงจังต่อเนื่องเด็ดขาด เพื่อให้ได้ผลการปฏิบัติเป็นรูปธรรม

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสถิติของ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทาความผิด เกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สานักงานตารวจแห่งชาติ (ศปน.ตร.) พบว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 64 – ก.พ.65 มีการแจ้งการกระทำความผิดซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินกู้นอกระบบกว่า 1,048 เรื่อง ซึ่งการกระทำความผิดที่ได้รับแจ้งมากที่สุด 3 อันดับ คือ การปล่อยกู้ออนไลน์ ,การเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา, และการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดําเนินการสืบสวนสอบสวนจับกุมผู้กระทําความผิดต่อไป


รวมถึงขอฝากประชาสัมพันธ์ถึงวิธีหลีกเลี่ยงการถูกทวงหนี้นอกระบบด้วยรูปแบบต่างๆ และแนวทางการป้องกัน ดังนี้
1.หากถูกแก๊งทวงหนี้ แอบอ้าง ข่มขู่ ควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบหรือให้ความช่วยเหลือ
2.ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพถ่าย คลิปวีดีโอ เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีภายหลัง
3.หากมีความจำเป็นต้องกู้เงิน ควรกู้จากสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้

นอกจากนี้ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง