'แมเดลิน อาลไบรต์' รัฐมนตรีหญิงคนแรกแห่งสหรัฐฯ สัญลักษณ์แห่งการแผ่อิทธิพลของสหรัฐฯ ผ่าน NATO

ไม่นานมานี้ สหรัฐอเมริกาได้รายงานข่าวการจากไปของ 'แมเดลิน อาลไบรต์' (Madeleine Albright) อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคนที่ 64 ของสหรัฐอเมริกา และนับเป็นครั้งแรกที่สุภาพสตรีสามารถก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้ได้ โดยเธอจากไปแล้วด้วยวัย 84 ปี จากโรคมะเร็ง

แมเดลิน อาลไบรต์ นับเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญด้านนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างมากในช่วงปี 1990s โดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดี บิล คลินตัน ที่เสนอให้เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ จนได้รับฉายาว่าเป็น ผู้นำชัยชนะในด้านการส่งผ่านประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา

อดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ได้กล่าวคำอาลัยถึงการจากไปของ แมเดลิน อาลไบรต์ ว่า "เมื่อใดก็ตามที่ผมคิดถึงแมเดลิน ภาพจำของผมคือผู้หญิงที่เปี่ยมล้นด้วยแรงศรัทธาต่อความยิ่งใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าเป็นประเทศที่โลกจะขาดไม่ได้ เธอเป็นคนที่แข็งแกร่ง เป็นพลังสำคัญของสหรัฐฯ ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งความดีงาม ตามครรลองครองธรรม และเสรีภาพ"

จากประวัติของ แมเดลิน อาลไบรต์ เป็นชาวเช็ก เชื้อสายยิว เกิดในกรุงปราก ประเทศเชโกสโลวาเกีย เมื่อปี 1937 มีบิดาเป็นนักการทูต แต่ต่อมาต้องลี้ภัยหนีกองทัพนาซี-เยอรมัน ที่ยกทัพเข้ายึดครองเชคโกสโลวาเกียในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนจะย้ายเข้ามาตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาในปี 1948

แมเดลิน อาลไบรต์ มีความเชี่ยวด้านภาษา และการเมืองต่างประเทศอย่างหาตัวจับยาก เธอสามารถพูดได้หลายภาษา ทั้ง อังกฤษ, เช็ก, รัสเซีย, ฝรั่งเศส และยังสื่อสารภาษาของชาวโปแลนด์, เซิร์บ ได้ด้วย 

นอกจากนี้ เธอยังจบปริญญาเอกในด้านรัฐศาสตร์ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งนำพาเธอสู่ตำแหน่งสูงถึงเอกอัคราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำองค์การสหประชาชาติ จนได้เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศหญิงสายเหยี่ยวคนแรกแห่งทำเนียบขาวในปี 1997 

ผลงานโดดเด่นของ แมเดลิน อาลไบรต์ ชัดเจนมากจากประเด็นความขัดแย้งในคาบสมุทรบอลข่าน โดยเฉพาะช่วงครามโคโซโว ในปี 1998-1999 ระหว่างกลุ่มปลดแอกชนชาติโคโซโว กับกองทัพรัฐบาลยูโกสลาเวีย ที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจนำกองทัพ NATO เข้าแทรกแซงเพื่อปลดปล่อยโคโซโว ด้วยปฏิบัติการภายใต้ชื่อ Operation Allied Force นำฝูงบินถล่มยูโกสลาเวียติดต่อกันนานถึง 78 วันเพื่อบีบให้รัฐบาลยูโกสลาเวียถอนทหารออกจากโคโซโว

และแมเดลิน อาลไบรต์ ยังเป็นสัญลักษณ์ของการขยายอิทธิพลของ NATO รุกเข้าไปในกลุ่มประเทศในเครือของสหภาพโซเวียตด้วยการดึงทั้ง โปแลนด์, เช็ก และฮังการี เข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ได้ในปี 1999

อย่างไรซะ แม้เธอจะมีผลงานโดดเด่นในการแผ่อิทธิพลของสหรัฐฯ และ NATO เข้าไปในประเทศหลังม่านอิทธิพลของสหภาพโซเวียตได้สำเร็จ จนได้รับการขนานนามว่า 'สุภาพสตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ' แต่แมเดลิน อาลไบรต์ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเพิกเฉยต่อเหตุสงคราม และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา ข้อพิพาทระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ รวมถึงเคยสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในอิรักของสหรัฐฯ ในอิรัก ที่ต้องสงสัยว่าครอบครองอาวุธชีวภาพร้ายแรง จนนำไปสู่การเสียชีวิตของพลเรือนอิรักจำนวนมากเช่นกัน

การจากไปของ แมเดลิน อาลไบรต์ ผู้เคยเป็นไอคอนของอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐฯ และ NATO ในวันที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กำลังตัดสินใจที่จะยืมมือ NATO ในการเข้าแทรกแซงในสงคราม ยูเครน-รัสเซีย พอดีนั้น ทำให้เกียรติประวัติของ แมเดลิน อาลไบรต์ ถูกยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง ว่าถึงเวลาที่จะต้องแสดงให้โลกรับรู้ว่า... 

'สหรัฐอเมริกา' จะยังเป็นประเทศที่โลกขาดไม่ได้...จริงหรือไม่?


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์
อ้างอิง: Aljazeera / BBC / CNN / Wikipedia