ตัวตนที่เลือนลาง!! หวนรำลึก SEATO องค์การ ‘เสือกระดาษ’ แห่งภูมิภาคอาเซียน

ตอนนี้หลายท่านอาจจะคุ้นหูกับคำว่า NATO ‘องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ’ (North Atlantic Treaty Organization) องค์กรความร่วมมือทางการเมืองและการทหารของประเทศค่ายเสรีประชาธิปไตย 

เชื่อว่าหลายท่านอาจจะไม่คุ้นกับองค์การ SEATO หรือ Southeast Asia Treaty Organization องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ.) ซึ่งมีสถานะเป็นองค์การความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เคยถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘เสือกระดาษ’ ใช่ไหมครับ?

วันนี้เลยจะขอเล่าเรื่องราวขององค์การ SEATO ที่เปรียบเสมือนองค์การ NATO แห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (แต่แทบจะไม่มีบทบาทอะไรเลย) ด้วยมีคำขอจากพี่สาวท่านหนึ่งใน เพจ FB ‘ดร.โญ มีเรื่องเล่า’ ซึ่งบอกมาว่า “อาจารย์คะ รบกวนเล่าที่มาของสนธิสัญญา อินโด-แปซิฟิก หน่อยได้มั้ยคะ ขอบคุณค่ะ”

จัดให้เลยครับ!! แต่ต้องขอเล่าเท้าความย้อนไปยุคหลังสงครามโลกที่สอง (ยุคสงครามเย็น) ซึ่งโลกถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วชัดเจนคือ ขั้วสังคมนิยมคอมมิวนิสต์และขั้วประชาธิปไตย (และเผด็จการ) โดยองค์การ SEATO ถือเรื่องราวเป็นส่วนแรกของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก ตามรายละเอียดดังนี้...

องค์การ SEATO ซึ่งตั้งขึ้นใน พ.ศ. 2497 มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงสงครามเย็น เป็นส่วนหนึ่งของลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) ในการสร้างแนวร่วมเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในระดับทวิภาคีและส่วนร่วมในสนธิสัญญาป้องกันระดับภูมิภาค

สนธิสัญญาและข้อตกลงเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างพันธมิตรที่จะควบคุมอำนาจคอมมิวนิสต์ (ในกรณีของ SEATO คือคอมมิวนิสต์จีนหรือสาธารณรัฐประชาชนจีน) ซึ่งขยายแนวคิดในการป้องกันของกลุ่มประเทศที่ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยรองประธานาธิบดี Richard Nixon ในขณะนั้นสนับสนุนให้มีองค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมแห่งเอเชียตามแบบองค์การ NATO หลังจากกลับมาจากการเดินทางเยือนเอเชียปลายปี พ.ศ. 2496 จึงได้ใช้องค์การ NATO เป็นแบบอย่างในการจัดตั้งองค์การใหม่ โดยมีกองกำลังทหารของชาติสมาชิกซึ่งตั้งใจที่จะประสานการปฏิบัติร่วมกันในอันที่จะทำการป้องกันประเทศสมาชิกโดยรวม

การประชุมองค์การ SEATO ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์

องค์การ SEATO เป็นองค์การที่ก่อตั้งขึ้นตามสนธิสัญญามะนิลาในช่วงสงครามเย็น โดยมีการลงนามเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2497 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498 ประกอบด้วยสมาชิก 8 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ปากีสถาน, ไทย (ปี พ.ศ. 2497 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้นได้ตัดสินใจลงนามในสนธิสัญญามะนิลา เพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ SEATO) และฟิลิปปินส์

ประชาชนคนไทยเข้าแถว-ถือป้ายต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรี SEATO ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ในภาคอารัมภบทของสัญญานี้ บรรดาประเทศสมาชิกต่างแสดงความปรารถนาที่จะประสานความพยายามของตนที่จะป้องกันร่วมกัน เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคง โดยเฉพาะข้อ 4 ของสนธิสัญญาเป็นข้อสำคัญที่สุด คือ แต่ละประเทศภาคีคู่สัญญาตกลงเห็นพ้องกันว่า หากดินแดนของประเทศใดถูกรุกรานจากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธ ประเทศภาคีทั้งหมดที่เหลือจะถือว่าเป็นอันตรายร่วมกัน และจะปฏิบัติการเพื่อเผชิญหน้ากับอันตรายร่วมกัน หรือถ้าหากพื้นที่ภายในเขตครอบคลุมของสนธิสัญญาถูกคุกคามด้วยประการใดๆ ประเทศภาคีทั้งหมดจะปรึกษากันในทันที เพื่อตกลงในมาตรการเพื่อการป้องกันร่วมกัน 

กองพันทหารพลร่ม กองทัพบกไทย ขณะร่วมพิธีสวนสนามในการฝึกร่วมขององค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (องค์การ SEATO) ภายใต้รหัสการฝึก ‘Firm Link’ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499 ณ จังหวัดพระนคร ประเทศไทย โดยผู้บังคับกองพันในขณะนั้นคือ พันโท เทียนชัย ศิริสัมพันธ์ (ยศสุดท้ายพลเอก)

อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วองค์การ SEATO ก็ประสบความล้มเหลวในการเข้าแทรกแซงความขัดแย้งในประเทศลาว และเวียดนาม เนื่องจากการตัดสินใจนั้นต้องการมติเอกฉันท์ แต่ฝรั่งเศสและฟิลิปปินส์กลับไม่เห็นด้วย

การประชุมคณะมนตรี SEATO ทั้งแปดประเทศ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

ในการประชุมคณะมนตรี SEATO ครั้งที่ 1 (23-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498) ที่ประชุมตัดสินเลือกประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ เพราะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร มีนายพจน์ สารสิน จากประเทศไทย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการทั่วไป ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำอย่างเป็นทางการขององค์การ ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 ถึง พ.ศ. 2507 (ปัจจุบันนี้บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การ ที่ถนนศรีอยุธยา ได้กลายเป็นที่ตั้งของกระทรวงการต่างประเทศของประเทศไทย) 

สาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ในปี พ.ศ. 2514

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐอเมริกาเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศแบบสุดขั้ว ด้วยการรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติแทนสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) การดำเนินงานแบบเดิมขององค์การ SEATO จึงไม่ได้ผล และถูกลดบทบาทและระดับความสำคัญลงเรื่อยๆ จนถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘เสือกระดาษ’ กอปรกับภาคีหลายประเทศถอนตัว ในที่สุดรัฐบาลไทยและรัฐบาลฟิลิปปินส์ก็ได้ตกลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2518 ให้ยุบเลิกองค์การ SEATO

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นตรวจเยี่ยมการซ้อมรบขององค์การ SEATO

องค์การ SEATO ถูกยุบเลิกอย่างเป็นทางการในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2520 เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของโลกได้เปลี่ยนไปมาก แม้ว่าสนธิสัญญามะนิลาไม่เคยถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการ แต่ก็ไม่เคยถูกนำมาใช้ปฏิบัติอย่างเป็นทางการอีก สหรัฐอเมริกาถอนกำลังทหารออกจากเวียดนามใต้ และรัฐบาลที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนนั้นประสบความพ่ายแพ้ทั้งในเวียดนาม, ลาว และกัมพูชา จนทำให้องค์การ SEATO หมดความจำเป็นในฐานะเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคนี้

สำนักงานใหญ่ขององค์การ SEATO ถนนศรีอยุธยา ต่อมาถูกรื้อถอน และพื้นที่ดังกล่าวได้ใช้สร้างเป็นอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศ (หลังปัจจุบัน)

มรดกขององค์การ SEATO ในประเทศไทย บริเวณที่เคยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ขององค์การ SEATO ถนนศรีอยุธยา โดยรัฐบาลไทยได้ใช้เป็นที่ทำการส่วนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศไทยอยู่หลายปี ต่อมาถูกรื้อถอนและสร้างเป็นอาคารที่ทำการแห่งใหม่ของกระทรวงการต่างประเทศ (หลังปัจจุบัน) ในพื้นที่เดิม มรดกของ SEATO 

อีกอย่างหนึ่งเกิดจากข้อตกลงร่วมกันว่ากลุ่มพันธมิตรจะเพิ่มการร่วมมือทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ขั้นสูง ซึ่งมิใช่เป็นเพียงการพัฒนาวิชาการทางด้านวิศวกรรมศาสตร์เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดจนการพัฒนาระดับชีวิตความเป็นอยู่ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางการเมืองและความสงบสุขของสังคมด้วย จึงเกิดเป็นโรงเรียนวิศวกรรม สปอ. ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนรูปมาเป็นสถาบันวิชาการอิสระ เรียกว่า สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ในปัจจุบันนี้


สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) หรือ อดีตโรงเรียนวิศวกรรม สปอ.


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes