ศบค. เผย สัดส่วนงบยูเซป ปันผู้ป่วยสีเขียวสูง 88% ทั้งที่ควรให้น้ำหนัก 'สีเหลือง - สีแดง' มากกว่า

ไทยติดเชื้อทะลุ 2.1 หมื่นราย ดับสูง 39 ราย กทม.เสริมเตียง CI อีก 900 เตียง ปรับลดราคารักษาต่อหัวทั้งรัฐ-เอกชน เผย ยูเซปอุ้มผู้ป่วยสีเขียวมากสุด ผุดมาตรการ School Isolation ให้เปิดเรียนได้แม้มีคนติดโควิด พบสถิติ ผู้สูงอายุยังไม่ฉีดวัคซีน อัตราตายสูง วอน เข้ารับการฉีด ปรับมาตรการ เดินทางเข้าไทย ให้เป็นเดย์ 0-PCR เดย์ 5-ATK นายกฯ ให้กำลังใจ คอลเซ็นเตอร์ หลัง โทรฯ ไปเองรู้รับศึกหนัก

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. เป็นประธาน ว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 21,232 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 20,904 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 20,839 ราย มาจากการค้นหาเชิงรุก 65 ราย มาจากเรือนจำ 160 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 168 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,770,793 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 16,662 ราย ทำให้มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,574,458 ราย อยู่ระหว่างรักษา 173,605 ราย อาการหนัก 882 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 229 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 39 ราย เป็นชาย 20 ราย หญิง 19 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 31 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,730 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 427,884,735 ราย เสียชีวิตสะสม 5,923,005 ราย  

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ภาพรวมการครองเตียงในประเทศ มีการใช้เตียงสีเขียวไป 82,523 คิดเป็น 55.7% สีเหลือง ระดับ 1 ใช้ไป 4,882 เตียง คิดเป็น 20.1% สีเหลืองระดับ 2 ใช้ไป 676 เตียง คิดเป็น 12.1% สีแดง ใช้ไป 402 เตียง คิดเป็น 18.6% เราต้องเอาเตียงไว้ให้กับผู้ป่วยวิกฤติหนัก โดยให้คนที่อาการไม่หนักไปอยู่ CI และ HI สำหรับ CI ในกทม. ถือว่ามีความสำคัญ โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรายงานต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้ยังมี CI ในกทม. เหลือ 2,000 เตียง และจะมีการเปิดเพิ่มอีก 900 เตียง 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมยังมีการรายงานการใช้จ่ายงบประมาณเกี่ยวกับโควิด-19 โดยในปี 63 กรมบัญชีกลางใช้งบไป 232.19 ล้านบาท ประกันสังคมใช้ไป 306.87 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้ไป 3,302.09 ล้านบาท รวม 3,841.15 ล้านบาท ในปี 64 กรมบัญชีกลางใช้ไป 36,652.97 ล้านบาท ประกันสังคมใช้ไป 42,917.39 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติใช้ไป 51,177.58 ล้านบาท รวม 97,747.94 ล้านบาท ขณะที่ปี 65 ในส่วนของหลักประกันสุขภาพมีการวางงบไว้ 32,488 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการของบเพิ่มเติม สำหรับค่าเฉลี่ยการจ่ายค่ารักษาโควิด-19 แบ่งตามอาการ ในปี 65 จะมีการปรับราคาลง จากเดิมผู้ป่วยสีเขียวมีประมาณค่าใช้จ่ายต่อรายในโรงพยาบาลรัฐอยู่ที่ 23,248 บาท เอกชน 50,236 บาท จะเสนอปรับลดให้เหลือ 12,000 บาท สีเหลือง โรงพยาบาลของรัฐ 81,844 บาท เอกชน 92,752 บาท เสนอปรับให้เหลือ 69,300 บาท สีแดง โรงพยาบาลรัฐ 252,182 บาท เอกชน 375,428 บาท จะปรับให้เหลือ 214,400 บาท 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า หากไปดูสัดส่วนเงินที่ใช้สำหรับยูเซปโควิด-19 แยกเป็นรายสี พบว่าใช้ในส่วนของผู้ป่วยสีเขียว 88% สีเหลือง 11% สีแดง 1% ข้อเท็จจริงในส่วนของยูเซปนี้ควรให้น้ำหนักสีเหลือง สีแดง มากกว่าสีเขียว โดยผอ.ศบค. แจ้งว่าเราจะยังใช้เกณฑ์เดิมอยู่ หากจะมีการปรับ ขอให้ปรับในเกณฑ์ที่ประชาชนไม่เดือดร้อน ซึ่งเลขาธิการ สปสช. กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อพัฒนาระบบอยู่ 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีการรายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กอายุ 0-19 ปี ว่ามีผู้ติดเชื้อ 21.9% และผู้ป่วยหนักก็มีน้อย ส่วนการปิดโรงเรียนในช่วงที่ผ่านมาพบว่า โรงเรียนที่มีผู้ติดเชื้อ 1 คนขึ้นไป มีการปิดโรงเรียนไปถึง 27.8% โรงเรียนที่มีการติดเชื้อมากกว่า 1 ห้อง ปิดเรียนถึง 55.7% โรงเรียนที่มีผู้ติดเชื้อในโรงเรียนใกล้เคียง มีการปิดโรงเรียนไปถึง 9% ถือว่าไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ จึงมีการเสนอมาตรการ “เปิดเรียนออนไซต์อยู่ได้กับโควิด-19” โดยกรณีนักเรียนมีความเสี่ยงและติดเชื้อในสถานศึกษา สำหรับของโรงเรียนประจำนั้น กรณีที่นักเรียน ครู และบุคลากรเป็นผู้เสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซต์ปกติ สังเกตอาการและประเมินความเสี่ยง กรณีนักเรียน ครู และบุคลากรเป็นผู้เสี่ยงสูง ให้จัดการเรียนการสอนใน Quarantine Zone จัดการตรวจคัดกรองหาเชื้อ และหากนักเรียน ครู และบุคลากรเป็นผู้ติดเชื้อให้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขจัดทำ School Isolation และให้จัดการเรียนการสอนอย่างเหมาะสม กำกับติดตามมาตรการส่วนบุคคลขั้นสูงสุด 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะที่โรงเรียนแบบไปกลับ ในกรณีนักเรียน ครู และบุคลากรเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้เรียนออนไซต์ปกติ หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้แยกกักตัวที่บ้านเป็นเวลา 7 วัน หากเป็นผู้ติดเชื้อให้ปฏิบัติตามมาตรการการรักษาของกระทรวงสาธารณสุข และพิจารณาจัดทำ School Isolation ตามความเหมาะสม สำหรับการจัดสอบกรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและติดเชื้อโควิด-19 ในสถานที่สอบ ให้ประสานหน่วยงานบริการสาธารณสุขตามระบบอนามัยโรงเรียนให้มีพื้นที่แยกสำหรับจัดสอบเป็นสัดส่วน แยกกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ติดเชื้อ จัดที่นั่งสอบไม่น้อยกว่าสองเมตร หากเป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ อาการเล็กน้อย หรือสัมผัสเสี่ยงสูง ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังสอบ งดการพูดคุย ส่วนการเดินทางไปสนามสอบให้เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือประสานหน่วยสถานที่สอบ หรือบริการสาธารณสุขในกรณีไม่มีรถยนต์ส่วนตัว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องแผนการบริการจัดให้บริการวัคซีน ศบค. กำลังจัดให้บริการนักเรียนที่อยู่ในวัยเรียนที่เปิดออนไซต์ และ ใกล้ปิดเทอมแล้วก็ขอให้เร่งพาเด็กๆ มาฉีดวัคซีน เพื่อเตรียมการเปิดเทอมในช่วงถัดไป ขณะนี้มีผู้ปกครองต้องการวัคซีนต่างแบบ ต่างชนิดกัน ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้นำเสนอทางเลือกให้หลายสูตร 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่าส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ จากการพบข้อมูลผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 666 คน หรือ 82% ของผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมด เมื่อดูประวัติการฉีดวัคซีนพบว่า 58.2% หรือ 387 คนไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนเลย ที่ประชุมศบค. จึงพบว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนในความเสี่ยงสูงมากที่จะเสียชีวิตโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ดังนั้นจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อช่วยให้อัตราการเสียชีวิตลดลง

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับเรื่อง การปรับมาตรการการป้องกันโรคสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ซึ่งทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำเสนอปรับเปลี่ยนเล็กน้อย โดยจากเดิมที่ต้องตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ในเดย์ 0 และเดย์ 5 นั้น ปรับเป็นตรวจ RT-PCR ในเดย์ 0 ส่วน เดย์ 5 ให้ตรวจ ATK ขอให้ติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อส่งผลการตรวจ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนด่านช่องทางบก เช่น ที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี และสงขลา พยายามจะเปิดด่านทางบกเพื่อนำร่อง ให้เกิดกิจการกิจกรรมทางการค้า ส่วน เรื่องประกันภัยสุขภาพที่จากเดิม 50,000 เหรียญสหรัฐ ขอปรับเป็นไม่น้อยกว่า 20,000 เหรียญสหรัฐ  โดยผอ.ศบค. มอบ เลขาฯ สมช. ไปดูในรายละเอียด เนื่องจากมีบางบุคคลมาทำการค้าเพียงวันเดียว หากต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยสูงมากอย่างนี้อาจจะไม่คุ้ม รวมถึงกีฬา เรือยอช์ต และเรือสำราญนั้น จะต้องผ่านระบบนี้ในรูปแบบที่ใกล้เคียงกันด้วย ซึ่งทางศปก.กก. จะได้มีการประชาสัมพันธ์ต่อไป

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีฝากขอบคุณ ผู้ที่ทำงานหนักมากในขณะนี้ คือคอลเซ็นเตอร์ นายกรัฐมนตรีได้กรุณาโทรศัพท์ไปเองจึงได้ทราบว่าทำงานกันอย่างหนักและให้กำลังใจกับทุกคน ขอบคุณแม้กระทั่งผู้ที่ทำงานในภาคประชาสังคมที่ได้ไปช่วย กับทีมงานของภาครัฐที่ดูแลผู้ป่วย และผู้ที่รอคอยการดูแล ที่อยู่ตามบ้าน นายกรัฐมนตรีฝากขอบคุณผู้ที่มีส่วนร่วมมือกันทุกคนเพราะบ้านของบางคนไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นที่กักตัว นายกฯ จึงขอให้ภาครัฐร่วมมือกันกับทางองค์กรทั้งหลายให้ช่วยกันดูแล 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกฯ รับทราบทุกเรื่อง และพยายามอยากจะให้ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะช่วยกันได้ และให้ติดตามผู้ที่มีการติดเชื้อ ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งให้หายดี ให้ทำหน้าที่ดูแลการเจ็บป่วยครั้งนี้ให้ทุกคนได้มีความพึงพอใจ อย่างไรก็ตามเรื่องความพึงพอใจนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ขณะที่คนไข้มีเป็นจำนวนมากอย่างนี้ อาจจะต้องเรียงลำดับความสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องสายด่วนนั้นนายกฯ ให้ความสำคัญสูงมากเพื่อที่จะรู้ว่าความทุกข์ร้อนของประชาชนในช่วงขณะนี้ มีความสำคัญอย่างสูงนายกฯ จึงได้ฝากผู้บริหารทั้งหลายให้ช่วยกัน 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เรื่องของสถานประกอบการในขณะนี้ที่เปิดแล้ว และส่วนหนึ่งมีการติดเชื้อเนื่องจากมีการผ่อนคลาย ขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการ ที่จะเข้าไปดูแล ต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างดี ควบคุม ติดตาม สำคัญที่สุดคือขอให้ประชาชนมีความรับผิดชอบร่วมกันให้มากๆ ดังนั้นการผ่อนคลาย กิจการเปิดได้ แต่ผู้ป่วยมากขึ้น ภาครัฐก็ต้องเข้ามาดูแล สิ่งต่างๆ จะต้องวางสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะดำเนินกิจการต่างๆ เหล่านี้ต่อไป

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกฯ ได้ขอบคุณและให้กำลังใจกับความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่มีหลายสถาบันกำลังแจ้งความก้าวหน้าในการผลิตวัคซีนของคนไทยเองทั้ง จุฬาฯ ศิริราช ใบยา ไบโอเนท องค์การเภสัชกรรม ซึ่งนายกฯ บอกว่าต้องขอบคุณแทนคนไทย และให้กำลังใจกับทุกภาคส่วน ที่เราจะได้มีวัคซีนเป็นของคนไทยมีความภาคภูมิใจ ขอให้กำลังใจกับทุกคนที่ทำงานอย่างหนัก