โควิดระลอกใหม่แรงทุบสถิติ ติดเชื้อ 1.3 หมื่น/วัน 'สธ.ไทย' ชี้!! ปลายกุมภาพันธ์ อาจแตะ 3 หมื่น

(9 ก.พ. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือศบค.รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เพิ่มขึ้นมากถึง 13,182 ราย ถือเป็นยอดสูงสุดครั้งแรกในระลอกเดือนมกราคม 2565 

>>ติดเชื้อทุบสถิติ13,182-ตาย 24 ราย 

ในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,182 รายนั้น จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากในประเทศ 13,043 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 139 ราย ผู้ป่วยสะสม 307,616 ราย นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 หายป่วยกลับบ้าน 8,571 ราย หายป่วยสะสม 241,383 รายนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 ผู้ป่วยกำลังรักษา 98,830 ราย เสียชีวิต 24 ราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (เอทีเค) อีก 5,928 ราย อาการหนักใช้ท่อช่วยหายใจ 111 ราย อาการหนัก 547 ราย 

>>กทม.พุ่งพรวด2,757-ปากน้ำ1,133 

ศบค.ระบุด้วยว่าสำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศรายใหม่สูงสุด 1.) ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดเชื้อใหม่พุ่ง 2,757 ราย 2.) สมุทรปราการ 1,133 ราย 3.) ชลบุรี 641 ราย 4.) นนทบุรี 560 ราย 5.) ภูเก็ต 425 ราย 6.) สมุทรสาคร 366 ราย 7.) นครราชสีมา 306 ราย 8.) ราชบุรี293 ราย 9.) มหาสารคาม277 ราย 10.) เชียงใหม่ 252 ราย ทั้งนี้ในกลุ่ม 10 อันดับ จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดพบว่า กรุงเทพฯ 2,757 ราย เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์อยู่ที่ 1,897 ราย ถือเป็นสถิติใหม่ของจำนวนผู้ติดเชื้ออีกครั้ง

>>โควิดเอเชียขาขึ้นเปิดกิจกรรมติดเชื้อขยับ 

ด้านนพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เพิ่งสูงขึ้นวันเดียวมากถึง 13,182 ราย และผลตรวจ ATK เข้าข่ายติดเชื้ออีก 5,928 รายว่า การประเมินสถานการณ์โควิดทั่วโลก จะเห็นว่าต่างประเทศอย่างยุโรป อเมริกา อยู่ในช่วงขาลงของการระบาด พบติดเชื้อลดลง แต่ขณะที่ทวีปเอเชียและประเทศไทย อยู่ในช่วงขาขึ้น จึงพบตัวเลขสูงขึ้นได้ ปัจจัยหลักของไทย เกิดจากเราเปิดกิจกรรมกันมากขึ้น กิจกรรมทางสังคมเพิ่มขึ้นมาก จะเหลือเพียงผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ยังไม่ได้เปิดให้บริการ แต่ก็สามารถเปิดในรูปแบบร้านอาหารได้ ฉะนั้น ตอนนี้เราใช้ชีวิตเหมือนปกติแล้ว การติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ไม่อยากให้กังวลเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ อยากให้ดูจำนวนผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตเป็นสำคัญ

>>จับตาป่วยหนักไม่ให้เกิน 200 คน/วัน 

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยากล่าวต่อว่า ข้อมูลล่าสุด มีผู้ติดเชื้ออยู่ระหว่างรักษาทั้งที่โรงพยาบาล (รพ.) และรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ประมาณ 90,000 ราย ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอยู่ใน รพ. และพบว่า ร้อยละ 90 ของคนที่อยู่ในรพ.ไม่มีอาการหรือมีเล็กน้อยมาก ส่วนผู้อาการรุนแรงต้องใส่ช่วยหายใจ มีประมาณ 111 ราย คิดเป็นอัตรา ร้อยละ 0.1 ของผู้ติดเชื้อ ซึ่งเราพยายามประคองให้ไม่เกินวันละ 200 รายจากที่เราเคยพบสูงถึง 1,300 ราย ในช่วงระบาดของเชื้อเดลตา ทำให้ไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วยโรคอื่น เราไม่อยากให้เกิดภาพนั้น

>>ปลายกพ. จุดพีกยอดอาจแตะ 3 หมื่น

“ขณะนี้ค่อนข้างสบายใจได้กว่ารอบเดลตา ที่ติดเชื้อสูงและมีตัวเลขป่วยหนัก เสียชีวิตตามมา แต่รอบนี้ติดเชื้อสูงแต่อาการหนักยังน้อยอยู่ ทั้งนี้ อีก 2-3 สัปดาห์จะมีตัวเลขป่วยหนัก เสียชีวิตเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะคาดว่าปลายเดือนนี้ ถึงต้นเดือนหน้าจะถึงจุดพีกของการระบาด ตามที่เราคาดการณ์ไว้ในเส้นฉากทัศน์ที่เงื่อนไขว่า หากไม่มีมาตรการอะไรเลย ก็คิดว่าจะถึง 3 หมื่นรายใหม่ต่อวัน และเราจะอยู่ในตัวเลขนั้นนานแค่ไหนขึ้นกับมาตรการที่เราจะใช้ควบคุมสถานการณ์ ถ้าประชาชนช่วยป้องกันจะไม่ยาว” นพ.จักรรัฐ กล่าว

>>ย้ำลดปัจจัยเสี่ยงลดยอดโคมา-ตาย

และว่า ไม่อยากเห็นตัวเลขสูงถึงที่คาดการณ์ไว้ แต่วันนี้ก็เห็นตัวเลขที่ 1.3 หมื่นราย แล้ว ดังนั้น เราต้องช่วยกันลดปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อ เพราะขณะนี้เกิดติดเชื้อในครอบครัวเป็นหลัก ลดรวมตัวของคน เช่น รับประทานอาหาร นักเรียนเล่นกีฬารวมกัน และลดความเสี่ยงในที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม หากจะลดอัตราป่วยหนัก เราต้องลดความเสี่ยงนำเชื้อเข้าไปติดในกลุ่มเสี่ยง 608 และขอให้กลุ่มนี้เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ตามกำหนด ย้ำว่าตรงนี้จำเป็นมาก ถ้าเราติดเชื้อมากขึ้น แต่ตัวเลขป่วยหนักไม่เพิ่มขึ้น การเสียชีวิตไม่สูงก็จะไม่น่ากังวล เราก็อยู่ร่วมกับโควิดต่อไปได้

>>พีกต่อเนื่องอาจไม่ได้จัดสงกรานต์

“ประเด็นคือ หากติดเชื้อถึงพีกเยอะๆ แล้วคนยังตกใจอยู่ สงกรานต์ปีนี้ เราอาจไม่ได้จัดเทศกาล ฉะนั้น เราต้องช่วยกันสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่า ติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงมีความสำคัญมาก เราต้องเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นรองรับกลุ่มเสี่ยง” นพ.จักรรัฐ กล่าว และว่า สิ่งสำคัญที่ต้องฝากถึงทุกคน คือ 1.) การปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เลี่ยงเข้าสถานที่แออัด หมั่นล้างมือ ช่วงนี้ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกับคนที่เสี่ยงสูงแม้จะรู้จักกันก็ตาม 2.) หากบ้านที่มีกลุ่มเสี่ยง 608 และเด็ก ขอให้คนอื่นในบ้านเว้นระยะห่าง เลี่ยงรับประทานอาหารร่วมกัน สวมหน้ากากอนามัย และ 3.) เข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ก็รับเข็มกระตุ้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ผู้ที่รับซิโนแวค+แอสตร้าฯ ก็รับแอสตร้าฯ และผู้ที่รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม ก็รับไฟเซอร์ เพื่อให้มั่นใจว่า แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยอาการหนักจะไม่เพิ่มขึ้นตาม

>>จุดเสี่ยงตลาดปล่อยคนแออัด-ใช้เงินสด

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย แถลงแนะนำผู้ค้า และประชาชนที่เข้าไปซื้อสินค้าในตลาดให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 หัวข้อ “ตลาด - จับจ่ายปลอดภัย ด้วยมาตรการ COVID Free Setting” ว่า จุดเสี่ยงในตลาดที่อาจทำให้ติดเชื้อคือ 1.) สัมผัสธนบัตร เหรียญ 2.) สัมผัสผักและผลไม้ 3.) สัมผัสเนื้อสัตว์ 4.) มีเชื้อโรคปะปนกับถุงพลาสติก และ 5.) ไม่เว้นระยะห่างระหว่างใช้บริการ สำหรับสถานการณ์ประเมินตนเอง และผลประเมินของตลาดสด หรืออาหารริมบาทวิถี หรือกิจการคล้ายคลึงกัน พบว่า มาตรการที่ทำได้มากที่สุดคือ ทำความสะอาดแผงจำหน่ายอาหารทุกวัน และล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล 1 ครั้งต่อสัปดาห์ รองลงมา จัดให้มีการระบายอากาศเพียงพอ กำกับให้ปฏิบัติตามมาตรการ DMHTA อย่างเคร่งครัด กำหนดทางเข้าออกและจุดคัดกรอง และทำทะเบียนแผงค้า ผู้ขายผู้ช่วยขายที่เข้ามาจำหน่ายสินค้า หลายตลาดทำเรื่องนี้ได้ดี

“ส่วนมาตรการที่ยังดำเนินการได้ไม่ดีมาก เป็นเรื่องคัดกรองความเสี่ยงผู้รับบริการด้วย Thai Save Thai หรือ แอปพลิเคชันอื่น ซึ่งตรงนี้ยังไม่เคร่งครัดในการปฏิบัติ การจัดพนักงานควบคุมจำนวนคนไม่ให้แออัดคือ ไม่เกิน 1 คนต่อ 4 ตารางเมตร แต่ทางปฏิบัติในบางแผงการตลาด บางเวลายังแออัด แต่บางตลาดก็มีการเตือนให้สลับ ให้เว้นระยะห่าง แต่มีบางตลาดก็ละเลยตรงนี้ ไม่ได้เข้มรักษาระยะห่าง 1-2 เมตร และยังพบการชำระเงินด้วยธนบัตรและเหรียญ แต่หลายตลาดที่ดี หรือร้านริมบาทวิถีก็ใช้วิธีชำระเงินผ่านแอปฯ ซึ่งช่วงนี้รัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี ยังช่วยการชำระเงินผ่านระบบแอปฯ โครงการคนละครึ่ง ลดความเสี่ยงการสัมผัสระหว่างการซื้อขายได้” นพ.สุวรรณชัย กล่าว และขอย้ำว่า ตลาดที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ขอให้รีบปรับปรุงจะได้ผ่านเกณฑ์มากขึ้น

>>โควิดลามทั่วกรุง-จตุจักรมากสุด146คน

ขณะที่นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ในกทม.ว่า กทม.มีผู้ติดเชื้อใหม่ 2,757 ราย กระจายตัวทั่วทุกเขตใน กทม. โดย 10 อันดับแรกที่ติดสูงในระลอกใหม่ คือ 1.) จตุจักร 146 ราย 2.) ดุสิต 94 ราย 3.) บางนา 93 ราย 4.) บางพลัด 89 ราย 5.) บางกอกน้อย 81 ราย 6.) ประเวศ 75 ราย 7.) เขตบางซื่อ 73 ราย 8.) ราชเทวี 68 ราย 9.) ภาษีเจริญ 62 ราย 10.) บางแค 61 ราย 11.) จอมทอง 59 ราย 12.) บางกะปิ 58 ราย 13.) บางคอแหลม 56 ราย 14.) บางเขน 55 ราย 15.) พญาไท 54 ราย 16.) หลักสี่ 53 ราย 17.) พระโขนง 52 ราย 18.) บางขุนเทียน 50 ราย 19.) ดินแดง 49 ราย 20.) ราษฎร์บูรณะ 45 ราย

21.) ป้อมปราบศัตรูพ่าย 42 ราย 22.) สวนหลวง 40 ราย 23.) ห้วยขวาง 40 ราย 24.) ทุ่งครุ 39 ราย 25.) ธนบุรี 39 ราย 26.) บางกอกใหญ่ 39 ราย 27.) ตลิ่งชัน 37 ราย 28.) วังทองหลาง 35 ราย 29.) วัฒนา 35 ราย 30.) ลาดกระบัง 33 ราย 31.) คลองสาน 29 ราย 32.) พระนคร 29 ราย 33.) ยานนาวา 29 ราย 34.) บึงกุ่ม 28 ราย 35.) ลาดพร้าว 28 ราย 36.) ดอนเมือง 27 ราย 37.) คันนายาว 24 ราย 38.) คลองสามวา 23 ราย 39.) สายไหม 22 ราย 40.) สาทร 21ราย 41.) คลองเตย 20 ราย 42.) ปทุมวัน 20 ราย 43.) บางรัก 17 ราย 44.) หนองแขม 17 ราย 45.) หนองจอก 17 ราย 46.) บางบอน 14 ราย 47.) มีนบุรี 13 ราย 48.) สัมพันธวงศ์ 10 ราย 49.) ทวีวัฒนา 8 ราย 50.) สะพานสูง 7 ราย

>>ยังไม่พบผู้ป่วยสีแดง

ทั้งนี้ ระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นเชื้อโอมิครอน การติดเชื้อกระจายตัวทุกกลุ่มอายุ เริ่มพบมากในกลุ่มวัยรุ่นวัยทำงาน และนักเรียนชั้นม.ปลายปะปนขึ้นมา ปัจจัยเสี่ยงคือ สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน และเข้าไปพื้นที่แออัด ใช้บริการสถานที่อากาศปิด เช่น ร้านอาหารที่ปรับมาจากผับบาร์ เหมือนที่ผ่านมา แต่พบการกระจายในครอบครัวง่ายขึ้น จากเดิมมักติดคนเดียว แต่พบติดเกือบทุกคนในครอบครัว เพราะเชื้อแพร่ง่าย และส่วนหนึ่งอาจหย่อนมาตรการในครอบครัว ดังนั้น จึงต้องเข้มมาตรการป้องกันตนเอง อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตลดลง แสดงว่าตัวโรคไม่รุนแรง การเสียชีวิตค่อนข้างน้อย ผู้มีอาการป่วยตรวจ ATK บวก ดูแลพักที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นอาการสีเขียว มีสีเหลืองส่วนน้อย ถึงตอนนี้ยังไม่ค่อยพบสีแดง

>>กทม.แนวโน้มติดเชื้อเพิ่มตามคาด

“สรุปสถานการณ์ติดเชื้อแนวโน้มสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงขึ้นจริง พบประมาณ 1,800-2,000 รายต่อวัน ลักษณะของโรคยังไม่แสดงลักษณะอาการรุนแรง ปัจจัยเสี่ยงกระจายตัวทุกกลุ่มอายุ ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือ ติดจากการพบผู้ป่วยยืนยัน ปฏิบัติงานพื้นที่เสี่ยง แหล่งชุมชน รวมตัวทำกิจกรรม สังสรรค์ในร้านอาหารกึ่งผับบาร์ การเสียชีวิตลดลงจาก 5-10 รายต่อวันเหลือ 1-2 รายต่อวัน เน้นย้ำมาตรการป้องกันตนเองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คัดกรอง ATK ก่อนปฏิบัติงาน และปฏิบัติตนเองเรื่อง COVID Free Setting” นพ.สุทัศน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าแนวโน้ม กทม.จะสูงขึ้นอีกแค่ไหน นพ.สุทัศน์กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในแนวโน้มสูงขึ้น แต่จะสูงขึ้นกว่านี้ไม่มาก และน่าจะทรงตัวได้ ซึ่งการติดเชื้อในกทม.ที่สูงขึ้นก็เป็นไปตามคาดการณ์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งยังมาจากปริมณฑลที่บริษัทต่างๆ ส่งพนักงานที่ติดเชื้อเข้ามารักษาด้วย และยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อจากผู้ที่กลับเข้ามาทำงาน สำหรับคลัสเตอร์ต่างๆ ใน กทม. ยังเป็นแหล่งชุมชน ตลาดพบบ้าง ส่วนค่ายมวยก่อนหน้านี้พบตอนนี้ปรับปรุงก็ไม่พบแล้ว ส่วนแคมป์ก็พบน้อยลง

>>สมุทรสาครกลับมาพุ่ง 366 คน

ขณะที่ยอดติดเชื้อหลายจังหวัดเริ่มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องอีกครั้ง โดยสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดวันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นสูงมากถึง 366 ราย สูงสุดในรอบหลายเดือน อยู่ในจังหวัด 233 ราย และนอกจังหวัด 133 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 845 ราย รักษาหายกลับบ้านได้ 240 ราย และอยู่ระหว่างสังเกตอาการอีก 445 ราย การฉีดวัคซีนฉีดได้ 2,600 โดส เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 1,134 โดส เข็มที่ 2 จำนวน 965 โดส เข็มที่ 3 จำนวน 496 โดส เข็มกระตุ้น 5 โดส ยอดฉีดวัคซีนสะสมรวม 2,022,129 โดส

>>โคราชขาขึ้น 300 ราย/วัน-จับตา 15 คลัสเตอร์

ที่จ.นครราชสีมา พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ชี้แจงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในพื้นที่ พบผู้ป่วยใหม่ 257 ราย เป็นการติดเชื้อนอกพื้นที่ 22 ราย และติดเชื้อในพื้นที่ 235 ราย ป่วยสะสม 40,603 ราย รักษาหาย 37,649 ราย ยังรักษาอยู่ 2,651 ราย เสียชีวิตสะสม 303 ราย พร้อมระบุว่า ขณะนี้ยอดผู้ป่วยใหม่เป็นช่วงขาขึ้นเฉลี่ยวันละ 2-300 ราย และการสอบสวนโรคพบความเชื่อมโยงจากกิจกรรมสังคมที่รวมตัวกันในตลาดสด งานรื่นเริง การนัดพบปะ งานเลี้ยงสังสรรค์สิ่งที่เป็นข้อกังวลมีการติดเชื้อในสถานศึกษามากขึ้น จึงต้องเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาด 15 คลัสเตอร์ อาทิ คลัสเตอร์โรงงาน คลัสเตอร์งานเลี้ยงสังสรรค์ โรงเรียน เครือญาติ คลัสเตอร์สนามชนไก่ คลัสเตอร์ตลาดไนต์บาร์ซาร์พิมาย คลัสเตอร์ตลาดสดเทศบาลเมือง (ทม.) ปากช่อง คลัสเตอร์ร้านมิสเตอร์ ดี.ไอ.วาย อ.ชุมพวง สาเหตุจากพนักงานรับประทานอาหารร่วมกันโดยไม่ใช้ช้อนกลาง

คลัสเตอร์งานหมอลำ คลัสเตอร์บ้านหนองนาโคก สาเหตุเกิดจากญาติที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ พบการแพร่กระจายอยู่ในครอบครัวและเครือญาติ คลัสเตอร์เครือญาติบ้านวะระเวียง คลัสเตอร์โรงเรียนบ้านปราสาท ต.หินดาด อ.ด่านขุนทด นักเรียนประถมทำกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ แล้วนำเชื้อแพร่กระจายสู่ครอบครัว โรงเรียนปิดและไม่มีกำหนดเปิดเรียน ป่วยสะสม 25 ราย พบการเชื่อมโยงหลายหมู่บ้าน

คลัสเตอร์บ้านกุดนางทอหูก อ.ด่านขุนทด คลัสเตอร์ร่วมรับประทานอาหารกลุ่มครอบครัวและเพื่อนบ้านและ คลัสเตอร์บ้านแท่น อ.สีดา สังสรรค์กับครอบครัว ลูกจ้างและเพื่อนบ้าน ป่วยสะสม 11 ราย


ที่มา : https://www.naewna.com/local/634498