‘ภูเขาไฟระเบิด’ หายนะทางธรรมชาติ!! ที่มนุษย์เอาชนะไม่ได้

เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คิดว่าหลาย ๆ ท่านคงได้ยินข่าวที่น่าสนใจอันเกิดจากภัยธรรมชาติข่าวหนึ่ง ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในประเทศเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไรนัก แต่ก็เป็นข่าวดังไปทั่วโลก นั่นคือการระเบิดของภูเขาไฟในประเทศตองกานั่นเอง 

โดยเกิดขึ้นในบริเวณหมู่เกาะฮังกา-ฮายาไป (Hunga Ha’apai island) ห่างไปทางเหนือราว 65 กิโลเมตร จากกรุงนูกูอาโลฟา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของตองกา ทั้งนี้จากภาพถ่ายดาวเทียมเวิลด์วิว 02 (Worldview02) ดาวเทียมเซนติเนล-1 (Sentinel-1) และดาวเทียมเกาเฟิน-1 (Gaofen-1) ที่แสดงให้เห็นว่าพื้นที่บางส่วนของเกาะฮังกา-ฮายาไป สูญหายหลังเกิดเหตุภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุรุนแรงเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 และเกิดการระเบิดปะทุซ้ำขึ้นมาอีกรอบ ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 มกราคม 2565

ผลของการระเบิดของภูเขาไฟใต้มหาสมุทรทั้ง 2 ครั้ง ส่งผลกระทบทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ที่มีความสูงราว 1.2 เมตร พัดถล่มหมู่เกาะ และชายฝั่งกรุงนูกูอาโลฟาจนเสียหายหนัก จากภาพถ่ายทางดาวเดียม เมื่อเปรียบเทียบก่อนและหลังการเกิดการระเบิดของภูเขาไฟ พบว่าหมู่เกาะทั้งเกาะหายไปเกือบทั้งเกาะเลยทีเดียว 

สำหรับวันนี้เราจะมาดูถึงที่มาและสาเหตุของการเกิดภูเขาไฟระเบิดกันครับ... การระเบิดของภูเขาไฟเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งของธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ ก่อนอื่นที่จะทำความรู้จักการระเบิดของภูเขาไฟ เราต้องรู้กันก่อนน่ะครับว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นี้ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นเปลือกโลก ซึ่งเราอาศัยอยู่ในส่วนนี้ และส่วนที่เป็นเนื้อโลก โดยภายในเนื้อโลกองค์ประกอบหลักเป็นธาตุโลหะหนักและหินที่มีอุณหภูมิสูงจนทำให้มีสถานะเป็นของเหลวหนืด ที่มีความร้อนสูง ซึ่งการเกิดภูเขาไฟเกิดก็เกิดขึ้นมาจากการที่ภายในชั้นเนื้อของโลกที่ประกอบไปด้วยหินหนืดที่มีความร้อนสูง หรือที่เรียกว่าแมกมา นั่นเอง  

ทั้งนี้ จากองค์ประกอบดังกล่าวส่งผลให้ภายในเนื้อโลก หรือลึกลงไปภายใต้แผ่นดินที่เราอาศัยอยู่จึงมีความดันหรือแรงอัดเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดแรงดันมากขึ้น ส่งผลให้สสารซึ่งเป็นของเหลว มีความหนืดสูงที่สะสมอยู่ข้างในเนื้อโลกจึงพยายามคายพลังงาน หรือหาทางออกเพื่อปลดปล่อยพลังงานที่สะสมเนื่องจากแรงอัดจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดการปะทุตัวออกมาในบริเวณที่มีรอยแยกของเปลือกโลก ที่เรียกว่าป่องภูเขาไฟ ส่งผลให้เกิดของเหลวที่ไหลออกมาในบริเวณป่องภูเขาไฟที่ปะทุออกมายังเปลือกโลกที่เรียกว่า “ลาวา”

สำหรับบริเวณที่มักจะเกิดภูเขาไฟ คือบริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่างแผ่นโลกแต่ละแผ่น โดยเฉพาะบริเวณที่แผ่นของเปลือกโลกมีการมุดตัว ซึ่งจะอยู่ในบริเวณใต้พื้นมหาสมุทรลงไปสู่บริเวณใต้เปลือกโลกที่เป็นส่วนของทวีป 

ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณแผ่นเปลือกโลกที่มุดตัวลงไปจะถูกหลอมกลายเป็นหินหนืด จึงทำให้เกิดการแทรกตัวขึ้นมาบริเวณผิวโลกได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น อย่างไรก็ตามบริเวณที่อยู่ห่างจากรอยต่อระหว่างเปลือกโลก ก็อาจเกิดภูเขาไฟได้เช่นกัน ซึ่งมักจะเกิดขึ้นโดยกระบวนการที่หินหนืดถูกดันขึ้นมาตามรอยแยกในชั้นหินนั่นเอง

ในส่วนของอันตรายที่เกิดจากภูเขาไฟระเบิด นอกจากจะเกิดจากของเหลวที่มีอุณหภูมิสูงที่ไหลออกมาจากปล่องภูเขาไฟ และควันที่เกิดจากความร้อนที่ฟุ้งกระจายออกมาแล้ว ถ้าการระเบิดของภูเขาไฟเกิดที่มหาสมุทร ก็จะส่งผลทำให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ ที่ถาโถมเข้าสู่บริเวณที่เป็นพื้นดินส่งผลเสียหายต่อสรรพสิ่งที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง หรือบริเวณใกล้มหาสมุทร เป็นอย่างมาก ซึ่งจากเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นในหมู่เกาะฮังกา-ฮายาไป ประเทศตองกา เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่ส่งผลให้หมู่เกาะทั้งเกาะถูกกลืนจากน้ำทะเลในมหาสมุทร เลยทีเดียวครับ 

ทั้งนี้ จากการสำรวจในโลกนี้พบว่ามีภูเขาไฟอยู่ประมาณ 1,300 ลูก โดยเป็นภูเขาไฟที่มีการระเบิดและดับลงแล้วจำนวนประมาณ 700 ลูก และยังมีการปะทุและมีโอกาสในการระเบิดอยู่อีกประมาณ 600 ลูก ซึ่งการระเบิดของภูเขาไฟในแต่ละครั้ง ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของมนุษย์เป็นจำนวนมาก 

ทีนี้เพื่อพิจารณาจากภูมิประเทศที่ตั้งของประเทศไทยแล้ว ในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ยังไม่มีการบันทึกถึงการระเบิดของภูเขาไฟ แต่อย่างไรก็ตาม พบว่ามีร่องรอยการระเบิดของภูเขาไฟเมื่อหลายล้านปีที่ผ่านมา กระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัด ลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร เพชรบูรณ์  สระบุรี ลพบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี นครนายก ตราด กาญจนบุรี ตาก นครราชสีมา ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ เลย และสุรินทร์ 

โดยภูเขาไฟเหล่านี้เป็นภูเขาไฟที่ปะทุหรือผ่านการระเบิดมาแล้วในหลายล้านปี ทำให้ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด นับว่าเป็นความโชคดีอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยเราครับ


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
TikTok > https://www.tiktok.com/@thestatestimes