‘อ้วน’ ไม่หนักหัวใคร…แต่เสี่ยงภัยโควิด!!

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าผู้ที่มีอาการรุนแรงจากการติดเชื้อและเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่มักจะมี “โรคอ้วน” เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีรายงานว่า คนอ้วนมีโอกาสเข้าโรงพยาบาลจากการติดเชื้อได้มากกว่าคนผอมถึงร้อยละ 113 นอกจากนี้คนอ้วนยังมีอัตราการเข้ารับการรักษาใน ICU สูงกว่าคนผอมถึงร้อยละ 74 และคนอ้วนพบอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มากกว่าคนผอมถึงร้อยละ 48

ในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสถิติชี้ว่าประเทศไทยมีประชากรที่เป็น “โรคอ้วน” เป็นอันดับสอง รองจากประเทศมาเลเซีย โดยในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนประชากรคนอ้วนสูงถึงร้อยละ 35 คิดเป็นเพศหญิงร้อยละ 38 และเพศชายร้อยละ 31 แต่สิ่งที่น่ากังวลคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเด็กและวัยรุ่นไทยเป็นโรคอ้วน เพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลก

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนมีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม อายุ ฮอร์โมน โรคประจำตัวและยาที่รับประทาน พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การ work from home เป็นระยะเวลานาน พฤติกรรม การรับประทานอาหาร การทำกิจกรรมทางกายต่าง ๆ ความเครียด การนอนหลับ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้ ประสบการณ์ และสื่อต่าง ๆ เป็นต้น

>> โรคอ้วน หรือ ภาวะน้ำหนักเกิน คืออะไร?
ภาวะที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่ากำหนดเมื่อเปรียบเทียบกับความสูง โดยการคำนวณ ดัชนีมวลกาย (Body mass index หรือ BMI) โดยนำน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยความสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร2) เช่น น้ำหนัก 65 กิโลกรัม ความสูง 165 เซนติเมตร จะได้ BMI = 65 / (1.65 x 1.65) = 23.9 kg/m2 

โดยค่า BMI ปกติอยู่ระหว่าง 18.5-24.9 kg/m2 หาก BMI น้อยกว่า 18.5 kg/m2 ถือว่าน้อยกว่าเกณฑ์ หาก BMI ระหว่าง 25-29.9 kg/m2 ถือว่าน้ำหนักเกิน แต่หาก BMI มากกว่า 30 kg/m2 ขึ้นไปถือว่าเป็นโรคอ้วน

นอกจากนี้การวัดเส้นรอบเอว (ระดับสะดือ) สามารถประเมินภาวะอ้วนลงพุงหรือความเสี่ยงต่อไขมันในช่องท้องมากเกินไป โดยเพศชายควรมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และเพศหญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร หากเส้นรอบเอวมากเกินกว่าค่าดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ สูงขึ้นเช่นกัน

>> โรคอ้วนกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 
ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุง ไขมันภายในช่องท้องจะดันกล้ามเนื้อกะบังลมขึ้นไปในทรวงอกมากขึ้น เมื่อกล้ามเนื้อกะบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้ปริมาตรของอากาศเข้าสู่ปอดน้อยลง กล้ามเนื้อหายใจต้องออกแรงเพิ่มมากขึ้น การแลกเปลี่ยนของออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง หลอดลมตีบแคบ ถุงลมของปอดส่วนล่างอาจแฟบ เกิดภาวะออกซิเจนต่ำโดยเฉพาะเวลานอนหงาย

นอกจากนี้ไขมันยังส่งผลให้ภูมิคุ้มกันลดลงและมีการอักเสบเรื้อรังเพิ่มขึ้น เมื่อคนอ้วนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เชื้อไวรัสจะแบ่งตัวในระบบทางเดินหายใจมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เกิดการอักเสบของปอดมากขึ้น พบการทำลายของเนื้อปอดมากกว่าคนที่มีน้ำหนักปกติ เนื่องจากความจุของปอดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจลดลง เกิดลิ่มเลือดอุดตันในปอด ทำให้ระบบหายใจล้มเหลวจนต้องใส่เครื่องช่วยหายใจและมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคอ้วนทำให้เกิดโรคประจำตัวต่าง ๆ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น โดยโรคประจำตัวเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และเมื่อเกิดการติดเชื้อแล้วอาการจะมีความรุนแรงและแย่ลงอย่างรวดเร็ว

>> หลักปฏิบัติสำหรับคนอ้วนในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารประเภท “ทอด หวาน มัน เค็ม” ปรับเปลี่ยนไปกินอาหารประเภท “ต้ม ปิ้ง นึ่ง ย่าง” ให้มากขึ้นแทน ปรับประเภทของอาหารให้ได้รับพลังงานลดลง 

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มกิจกรรมการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หรือหากิจกรรมทำในยามว่างแทนการเล่นโทรศัพท์มือถือ

ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ช่วยการไหลเวียนของเลือดและกระตุ้นการขับถ่ายให้เป็นปกติ 
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแคลอรี่สูง เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชานมไข่มุก 
จำกัดการบริโภคผลไม้ เนื่องจากผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาล ควรเลือกกินผลไม้ที่มีน้ำตาลน้อย เช่น แอปเปิล ฝรั่ง ชมพู่ แก้วมังกร 
สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ อย่าเข้าไปในสถานที่ชุมชนและอากาศถ่ายเทไม่ดี
ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

ลดความเครียด โดยหากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย เช่น นั่งสมาธิ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ หรือฝึกหายใจ 
พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันและควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากมีการศึกษาพบว่ายิ่งนอนดึก จะส่งผลต่อฮอร์โมนและทำให้รู้สึกหิวจนอยากกินอาหารมากยิ่งขึ้น


แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- O’Hearn M, Liu J, Cudhea F, Micha R, Mozaffarian D. (2021). Coronavirus Disease 2019 Hospitalizations Attributable to Cardiometabolic Conditions in the United States: A Comparative Risk Assessment Analysis. Journal of the American Heart Association. 2021 Feb.
- Kompaniyets L, Goodman AB, Belay B, et al. (2021). Body Mass Index and Risk for COVID-19–Related Hospitalization, Intensive Care Unit Admission, Invasive Mechanical Ventilation, and Death — United States, March–December 2020. 


ติดตามผลงานอื่นๆ ของ THE STATES TIMES ได้ที่
YouTube > https://www.youtube.com/c/THESTATESTIMES