อนาคต ‘หัวลำโพง’!! ต้องเดินหน้าด้วยการแปลง ‘คุณค่า’ เป็น ‘มูลค่า’ และเข้าใจผู้ใช้บริการ

กรณีที่สังคมไทยวิพากษ์เรื่องทิศทางในอนาคตของหัวลำโพง ค่อนข้างจะเป็นประเด็นร้อน แต่ทั้งนี้เราอาจสรุปสั้น ๆ ได้ว่า “ไม่ทุบ แต่ปิดตัว” คือไม่มีการทุบทำลายหัวลำโพงตามที่มีข่าวลือออกมา

แต่อีกด้านคือ มีการยุติการเดินรถไฟเข้าที่สถานีหัวลำโพง และจะปรับหัวลำโพงเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าหัวลำโพงที่ถูกปรับเป็นพิพิธภัณฑ์จะมีหน้าตาอย่างไร

>> แผนลงทุนและปลดหนี้ของการรถไฟ
หากเรานำแผนการพัฒนาระบบคมนาคมมากางดู จะเห็นว่ารัฐบาลได้ย้ายศูนย์กลางคมนาคมทางราง จากหัวลำโพงไปยังสถานีบางซื่อ ซึ่งจะเป็นจุดที่มีทั้งรถไฟชานเมือง (Commuter) รถไฟในเมือง (Metro) และรถไฟทางไกล/เชื่อมเมือง (Long Distance / Intercity) และรถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) ในขณะที่หัวลำโพงจะกลายเป็นแค่สถานีหนึ่งในโครงข่ายทั้งหมดเท่านั้น 

และเนื่องจากการรถไฟฯ เป็นหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่มีหนี้สินจากการให้บริการสาธารณะมากที่สุด โดยภาระหนี้ของรถไฟที่ขาดทุนสะสมต่อเนื่องอยู่ที่ 150,000 - 160,000 ล้านบาท ทำให้เมื่อกันยายน ปี 2563 การรถไฟฯ ได้ตั้งบริษัทบริหารลูกมาเพื่อทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้ การรถไฟฯ จึงมีแผนจะนำเอาหัวลำโพงไปทำเป็นพิพิธภัณฑ์ และนำพื้นที่ของการรถไฟบางส่วน ให้เอกชนมาลงทุนเชิงพาณิชย์ เพื่อหาเงินเข้าการรถไฟฯ

โดยตามแผนภายใน 30 ปี พบว่า จะมีรายได้เข้ามารวม 800,000 ล้านบาท โดยในปีแรกจะอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท และปีที่ 5 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาการขาดทุนสะสมต่อเนื่องได้

ซึ่งก็ถือเป็นแผนที่ดี ที่หน่วยงานภาครัฐตั้งใจจะแก้ไขปัญหาขาดทุนสะสม และหาเงินสำหรับมาใช้พัฒนาองค์กรและบริการสาธารณะให้ดีขึ้นในอนาคต และก็คงไม่มีใครคัดค้าน หากว่าการรถไฟไม่มีแผนจะมีการหยุดการเดินรถเข้ามาที่สถานีหัวลำโพง

>> ความเดือดร้อนของประชาชน
ตามแผนพัฒนาระบบคมนาคม สถานีรถไฟบางซื่อ-หัวลำโพง จะมีการเชื่อมกันอย่างแน่นอน โดยจะวิ่งผ่านสามเสนลงมายังหัวลำโพง แต่ปัจจุบันแม้จะใกล้สิ้นปี 2564 แล้ว โครงการนี้ยังอยู่ในช่วงของการเริ่มประมูลเท่านั้น กว่าจะประมูลจบและเริ่มก่อสร้างก็คงใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 4-5 ปี

ในขณะที่ถ้ายกเลิกการเดินรถเข้าหัวลำโพง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้โดยสารเดิมที่จะเข้ามาที่หัวลำโพง ต้องลงที่สถานีบางซื่อ แล้วต่อรถเข้าไปแถวหัวลำโพงอีก หากเดินทางด้วย MRT อย่างน้อยก็ 42 บาท หรือต้องต่อรถเมล์-รถตู้ ซึ่งจะทำให้พวกเขามีค่าใช้จ่ายประจำวันเพิ่มขึ้น และคนที่ใช้บริการรถไฟแบบเช้า-เย็น ส่วนมากเป็น ‘ผู้มีรายได้น้อย’ ที่อาจมีการเพิ่มต้นทุนชีวิตเข้ามาอีกเกือบ 90 บาทต่อวันสำหรับพวกเขาถือเป็นเรื่องที่หนักหนามาก 

หมายความว่าพวกเขาต้องรออีก 4-5 ปีให้ส่วน missing link บางซื่อ-สามเสน-หัวลำโพง เสร็จสิ้น แถมเมื่อเสร็จแล้วก็ไม่รู้ว่าค่าเดินทางจะเป็นเท่าไร ซึ่งถ้าเทียบกับรถไฟชั้น 2-3 ซึ่งมีค่าเดินทางที่ประหยัดกว่า ก็อาจเป็นตัวเลือกที่ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไรนัก

เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่กระทบต่อประชาชนโดยตรง และทำให้มีแรงต้านจากสังคมอย่างรุนแรง จนทำให้นายกรัฐมนตรีต้องออกคำสั่งให้มีการทบทวนแนวทางของการรถไฟ ที่จะยุติการเดินรถเข้ามาที่สถานีหัวลำโพงเสียใหม่ โดยให้มีการฟังเสียงสะท้อนของประชาชนให้รอบด้านเสียก่อน

>> แนวทางการพัฒนาที่สังคมคาดหวัง
นอกจากประเด็นเรื่องการคมนาคมแล้ว ปัญหาอีกอย่างที่ทำให้สังคมวิจารณ์กันมากในเรื่องหัวลำโพงก็คือ ภาพจำลอง 3 มิติที่ถูกเผยแพร่ออกมา แสดงให้เห็นถึงตึกสูงซึ่งถูกสร้างในที่ดินด้านหลังอาคารหัวลำโพง ที่การเลือกมุมภาพ ทำให้รู้สึกเหมือนตึกที่ถูกสร้างใหม่นั้นไปข่มความสำคัญของอาคารหัวลำโพงเดิมลง

ในขณะที่เมื่อลองดูกรณีศึกษาในต่างประเทศที่มีการนำสถานีรถไฟเก่าไปปรับปรุงหรือเปลี่ยนการใช้งานเป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น กรณี Musée d'Orsay ที่อยู่ในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้มีเปลี่ยนสถานีรถไฟเก่าแก่อายุร้อยกว่าปี (เช่นเดียวกับหัวลำโพง) ไปเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือ Art Gallery

ภาพสถานีรถไฟ Orsay ในอดีต ที่ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็น Art Gallery ในปัจจุบัน

โดยในพิพิธภัณฑ์นั้นมีการเก็บศิลปะในอดีตไว้ ในขณะเดียวกันก็มีพื้นที่งานศิลปะสมัยใหม่และพื้นที่กิจกรรม ให้ศิลปินได้มาปล่อยของ แสดงฝีมือ เรียกว่าทั้งรักษารากวัฒนธรรมเดิม และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ไปพร้อมกัน ในขณะที่ด้านนอกก็ทำเป็นพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่สีเขียวให้ผู้คนได้เข้าไปใช้งาน

บรรยากาศการแสดงงานศิลปะภายในพิพิธภัณฑ์ Orsay

ด้วยความน่าสนใจดังกล่าว ได้เปลี่ยนให้สถานีรถไฟเก่า กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีชื่อเสียง และสามารถหารายได้จากร้านค้า ร้านอาหาร พื้นที่กิจกรรมภายในอาคาร โดยที่ยังรักษาคุณลักษณะ (Character) ที่แสดงถึงความเป็นสถานีรถไฟเก่าแก่ได้อย่างชัดเจน และกลายมาเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ Art Gallery แห่งนี้ต่างจากที่อื่น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ในการมองเห็นความสำคัญของอาคารประวัติศาสตร์ และเข้าใจคุณค่า (Cultural & Social Value) ที่สามารถนำไปสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Value) ได้ 

Café ในพิพิธภัณฑ์ Orsay ที่ใช้คุณลักษณะของอาคารเก่ามาเป็นจุดขาย

อีกตัวอย่างคือ Madrid Atocha railway station หรือสถานีอาโทช่า ในเมืองมาดริด ประเทศสเปน ที่ยังทำหน้าที่เป็นสถานีรถไฟอยู่แต่ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างกิจกรรมที่น่าสนใจในสถานีรถไฟด้วย โดยเฉพาะส่วนโถงกลางที่เป็นพื้นที่ที่สีเขียวให้คนพักผ่อนหย่อนใจ เสมือนหนึ่งว่านั่งอยู่ในสวนสาธารณะ

บรรยากาศภายในโถงสถานีรถไฟ Atocha

บรรยากาศภายในโถงสถานีรถไฟ Atocha

นอกจากนี้ในสถานียังมี ร้านค้า ร้านอาหาร และส่วนแสดงศิลปะและการระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วย เรียกว่าทำให้สถานีกลายเป็นศูนย์รวมกิจกรรมที่น่าสนใจ แนวทางของสถานี Atocha อาจจะเหมาะกับคนไทย ที่ชอบความบันเทิงและกิจกรรมหลากหลาย ดังเช่นที่เห็นได้จากศูนย์การค้าจำนวนมากที่มีทั้งโรงหนัง ช็อปปิงสินค้า ซื้อของซูเปอร์มาร์เก็ต กินอาหาร จิบกาแฟ ตั้งวงนั่งคุยกับเพื่อน ฯลฯ 

>> บทสรุป
ในแง่หนึ่ง ภาครัฐเองต้องคำนึงถึงการใช้งานและความเดือดร้อนของประชาชน หากมีการปิดการเดินรถไฟมายังสถานีหัวลำโพง แต่ในอีกแง่หนึ่ง ประชาชนคนไทยเองก็คงอยากเห็นว่าการรถไฟ จะเนรมิตหัวลำโพงให้ออกมาในทิศทางไหน 

แน่นอนว่าประชาชนไม่ได้ปฏิเสธเรื่องที่การรถไฟ จะนำที่ดินไปให้เอกชนมาลงทุน เพื่อปลดหนี้และหารายได้มาปรับปรุงองค์กรและบริการสาธารณะ แต่สิ่งที่พวกเขาอยากเห็นในความเปลี่ยนแปลง คือ หัวลำโพงที่ตอบสนองต่อคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้

ไม่ใช่เพียงแต่การทำพิพิธภัณฑ์เก็บของเก่า หรือ ปล่อยที่ดินให้เอกชนเช่าเพื่อหาเงินเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากผู้มีอำนาจและมีวิสัยทัศน์เล็งเห็นการพัฒนาในมิติดังกล่าว ก็อาจทำให้หัวลำโพงกลายสภาพเป็นพื้นที่ที่น่าสนใจมากขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน


ขอบคุณภาพประกอบ : The Bangkok Insight  / Bangkok biz news / Bang Sue Area The New CBD & Transport Center ที่มาการรถไฟแห่งประเทศไทย 


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32