กำเนิดฟุตบอลประเพณี ‘จุฬาฯ - ธรรมศาสตร์’ 2 มหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนั้น! ได้ร่วมสร้างสรรค์ประโยชน์ให้ประเทศชาติ

ฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์ ก่อกำเนิดครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2477 โดยแนวความคิดของนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบันกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยเรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน ได้หารือกันว่าควรจะมีการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสถาบันเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างนิสิตนักศึกษาทั้งสองสถาบัน และควรจัดให้มีขึ้นเป็นประจำทุกปี ผู้ริเริ่มฝ่ายธรรมศาสตร์มีพล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค, บุศย์ สิมะเสถียร และฝ่ายจุฬาฯ มี ประสงค์ ชัยพรรค, ประถม ชาญสันต์ และประยุทธ สวัสดิ์สิงห์ การแข่งขันครั้งแรกนั้นทางฝ่ายธรรมศาสตร์คือ ดร. เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองสมัยนั้นรับจัดการแข่งขัน และได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบเนื่อง มาจนถึงปัจจุบัน

การแข่งขันทุกปีนั้น ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า รายได้ที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะมีการมอบการกุศลทุกครั้งโดยในครั้งแรกซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ณ สนามหลวง ท้องทุ่งพระสุเมรุ มีการเก็บเงินค่าผ่านประตูบำรุงสมาคมปราบวัณโรค ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุดของไทยขณะนั้น หลังจากนั้นก็มีการเก็บเงินบำรุงการกุศลเรื่อยมา เช่น ในช่วงแรก ๆ มีการเก็บ เงินบำรุงทหาร สมทบทุนสร้างเรือนพักคนไข้วัณโรค ช่วยเหลือผู้ประสบอัคคีภัยบำรุงสภากาชาด บำรุงมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก สมทบทุนอานันทมหิดล สร้างโรงเรียนชาวเขา ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีการเก็บเงินเพื่อบำรุงการศึกษาของทั้งสองสถาบัน และตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 34 (พ.ศ. 2521) จนถึงปัจจุบัน คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้นำเงินรายได้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย

ด้านสถานที่ที่ใช้ในการแข่งขัน มีครั้งแรกเพียงครั้งเดียวที่ใช้ท้องสนามหลวงเป็นที่แข่งขัน ครั้งที่ 2, 3, 4 ได้ย้ายไปจัดที่สนามฟุตบอลโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และนับตั้งแต่ครั้งที่ 5 เป็นต้นมาได้ย้ายมาจัดที่ สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน (ยกเว้นครั้งที่ 41 และ 44 จัดที่สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์) แม้ว่าจะถือเป็นประเพณีว่าการจัดการแข่งขันจะจัดเป็นประจำทุกปี แต่ในบางปีสถานการณ์บ้านเมืองไม่เหมาะสม ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดงาน จึงได้มีการงดเว้นในหลาย ๆ ช่วงคือ ในปี พ.ศ. 2485 เนื่องจากเกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ

พ.ศ. 2487 - 2491 ไม่มีการแข่งขัน เนื่องจากอยู่ในระหว่างสงคราม พ.ศ. 2494 มีเหตุขัดข้องบางประการ พ.ศ. 2516 - 2518 และ พ.ศ. 2520 ไม่มีการแข่งขัน เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่อำนวย อนึ่ง นับตั้งแต่การแข่งขันครั้งที่ 10 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2492 เป็นต้นมา เสียงเพลงพระราชทาน "มหาจุฬาลงกรณ์" และ "ยูงทอง" ได้ก้องกังวานขึ้นเป็นครั้งแรกที่มีการชิงถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ซึ่งพระองค์ได้เสด็จมาทรงเป็นประธาน

และตั้งแต่ครั้งที่ 12 วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2495 จนถึงปัจจุบัน มีการแข่งขันเพื่อชิงถ้วยพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงนับเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งของนิสิต-นักศึกษาทั้ง 2 สถาบัน ในการที่จะรักษาประเพณีอันดี ความสามัคคีของทั้ง 2 สถาบันให้แน่นแฟ้นสืบไป


ที่มา : https://www.sanook.com/campus/931907/


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32