รมว.เฮ้ง มอบนโยบายปี 65 กระทรวงแรงงาน มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน สู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายกระทรวงแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พล.ต.ต.นันทชาติ ศุภมงคล ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ โฆษกกระทรวงแรงงาน (ฝ่ายการเมือง)

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ขอขอบคุณผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานทุกท่าน ใน 1 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากทุกท่านทุกกรมของหน่วยงานในการทำงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน ผู้ประกอบการที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย จนกระทั่งสามารถผ่านพ้นวิกฤตที่สำคัญ เป็นที่ประจักษ์ตามนโยบายกระทรวงแรงงาน

ผมขอมอบนโยบายกระทรวงแรงงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ดังนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ให้แรงงานจังหวัดเป็น CEO ในการขับเคลื่อนงานระดับจังหวัดในทุกมิติ  มีการบูรณาการข้อมูลให้เป็นฐานเดียวกัน สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านแรงงานระดับจังหวัดและเชื่อมโยงกับส่วนกลาง มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน สร้างการรับรู้นโยบายในทุกระดับและภารกิจของทุกหน่วยงาน “รัฐมนตรีรู้ ปลัดกระทรวงรู้ แรงงานจังหวัดรู้”อาสาสมัครแรงงานและบัณฑิตแรงงาน เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงแรงงาน ให้สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น จัดตั้งกลุ่มไลน์แรงงานจังหวัดระดับภาคเพื่อเชื่อมโยงการทำงาน, การตั้งกลุ่มไลน์อาสาสมัครแรงงานและบัณฑิตแรงงาน เป็นต้น

การใช้ช่องทางการสื่อสารจาก Social Media ที่มีความเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและสามารถใช้ประโยชน์ในการทำงานแบบเครือข่ายไยแมงมุม ให้อัครทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน ทำการขยายตลาดแรงงานในต่างประเทศแก่แรงงานไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้กลับประเทศไทย โครงการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านอาชีพ  สามารถนำเงินลงในระบบเศรษฐกิจเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ในปี 2565 ขอให้ดำเนินการต่ออย่างเข้มแข็งเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนด้านอาชีพ แรงงานนอกระบบ ผลักดันพระราชบัญญัติแรงงานนอกระบบ พ.ศ. .... เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานนอกระบบกว่า 20.4 ล้านคน ต้องปรับปรุงกฎหมายให้ทันต่อรูปแบบการจ้างที่เหมาะสมกับการทำงานที่เปลี่ยนไป 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า กรมการจัดหางาน จะเน้นในเรื่องการรักษาการจ้างงานและความช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ขอให้เตรียมความพร้อมอย่างรอบคอบ และวางระบบการเบิกจ่ายให้รัดกุม การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ต้องมีการอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน ให้เตรียมการจัดงาน JOB EXPO เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่ประชาชนผู้สนใจ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ในการออกตรวจ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดมิให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด

ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อเฝ้าระวังสถานประกอบการกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดข้อพิพาท วางแผนการทำงานในแต่ละปีเพื่อลดข้อร้องเรียนที่อาจเกิดขึ้น เช่น เดือนพฤศจิกายนให้หารือกับสหภาพเกี่ยวกับการจ่ายโบนัสประจำปีเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีจะเป็นการลดสถิติของปัญหาข้อพิพาทแรงงานและข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างและลูกจ้างที่อาจเกิดขึ้นดำเนินโครงการแรงงานพันธุ์ดีตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ทบทวนหลักสูตรการฝึกอบรมที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบันและเหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานอย่างครบวงจรตั้งแต่การฝึกอบรมจนถึงสอนการทำตลาด เช่น สร้าง Story ในการขายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเป็นที่น่าสนใจ

ให้สถาบัน/สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด กำหนดหลักสูตรจังหวัดละ 1 หลักสูตร ขับเคลื่อนการดำเนินงานตาม MOU ร่วมกับอาชีวศึกษา และสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน เร่งรัดการออกหนังสือเพื่อรับรองความรู้ความสามารถให้เร็วขึ้นผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับสถาบันการศึกษาจัดทำหลักสูตรเพื่อผลิตกำลังแรงงานรองรับตลาดแรงงานในอนาคต ระยะ 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี สำนักงานประกันสังคม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 แก้ไขกฎหมายประกันสังคม

ในส่วนของสิทธิประโยชน์ กรณีชราภาพ “3 ขอ” ได้แก่ ขอเลือก ขอคืน และขอกู้ จัดตั้งธนาคารเพื่อผู้ประกันตน สถาบันการแพทย์เพื่อผู้ประกันตน สร้างที่อยู่อาศัยให้กับผู้ประกันตนในราคาถูก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและมั่นคง สร้าง application ประกันสังคมร่วมกับร้านค้าเพื่อเป็นสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตน และ สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) หรือ สสปท. สร้างองค์ความรู้ให้แก่สถานประกอบการได้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อลดอัตราการอุบัติเหตุและอันตรายจากการทำงาน

“สิ่งสำคัญคือต้องมีข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ต้องรู้ว่าในอีก 3 – 5 ปี แนวโน้มอาชีพจะเกิดขึ้นจะเป็นแบบใด ต้องสามารถชี้นำด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศ ข้าราชการกระทรวงแรงงานทุกคนต้องไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการการค้ามนุษย์ หากพบหรือได้รับการรายงาน จะดำเนินการทั้งวินัยและอาญาทันที การทำงานต้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 และ BCG (Bio Circular Green Economy) หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขอให้ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงานให้เป็นปัจจุบัน

การทำงานต้องคำนึงถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นสำคัญ ไม่นำข้อกฎหมายมาเป็นอุปสรรค เพื่อให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด หลักการในการทำงานขอให้คำนึงถึงหลักการ - เหตุผล - ผลลัพธ์ – Impact เพื่อให้เห็นองค์รวมในการทำงานที่เป็นระบบ เร่งรัดสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายทุกประเภทของทุกหน่วยงาน เพื่อให้เครือข่ายได้มีส่วนร่วม และสนับสนุนการสร้างการรับรู้ในภารกิจของกรม/กระทรวงอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จัดสรรสถานที่ราชการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของวิสาหกิจชุมชน เพื่อขับเคลื่อนกระทรวงแรงงาน ขับเคลื่อนประเทศมุ่งสู่เป้าหมายเดียว คือ สร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชน พี่น้องชาวแรงงานปลอดภัยจากโรคโควิด-19” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด