“วันส้วมโลก” จุดเริ่มต้น! การรณรงค์ให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสะอาดของการใช้ห้องน้ำ - ห้องส้วม ให้มีสุขอนามัยที่ดี

“วันส้วมโลก” (World Toilet Day) หรือวันสุขาโลก ได้ถูกตั้งขึ้นโดยองค์การส้วมโลก (World Toilet Organization หรือ WTO) เป็นองค์การไม่แสวงหาผลประโยชน์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 กับประเทศสมาชิก 15 ประเทศ เพื่อดำเนินการปรับปรุงส้วมและสุขอนามัยทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ห้องส้วมมากกว่าด้านประปา ซึ่งต้องการให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาของสุขาภิบาล ความสำคัญของความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วม และให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสาธารณสุขมากขึ้น เนื่องจากยังมีผู้คนทั่วโลกอีกมากมายที่ยังใช้ส้วมที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่ โดยใช้ความพยายามกว่า 12 ปี ในการดำเนินงาน

จนกระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ในที่ประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ได้มีมติเห็นชอบให้บรรจุวันส้วมโลกอยู่ในวันของสหประชาชาติ และ กำหนดวันที่ 19 พฤศจิกายน ของทุก ๆ ปี เป็นวันสุขาโลก เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกช่วยกันส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และออกนโยบายเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ที่สามารถเข้าถึงระบบสุขาภิบาล และหยุดการถ่ายอุจจาระในที่เปิดโล่ง และวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ได้มีมติอย่างเป็นทางการ เพื่อเน้นย้ำแสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของผู้คนถึง 2.5 พันล้านคน ที่ยังไม่มีห้องน้ำขั้นพื้นฐาน ตามที่สหประชาชาติเคยกล่าวไว้ว่า ในบรรดาประชาชน 7 พันล้านคนของโลก มีเพียง 4.5 พันล้านคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงห้องสุขาหรือส้วมได้ และมีอีก 1,100 ล้านคน ที่ยังขับถ่ายในที่สาธารณะ ซึ่งคุกคามต่อการสาธารณสุข

นอกจากนี้ ยังมีรายงานขององค์กรการกุศลวอเตอร์เอด (WaterAid) ที่เผยแพร่ออกมาก่อนวันส้วมโลกประจำปี 2018 ระบุว่า “เอธิโอเปีย” ขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ขาดแคลนห้องน้ำมากที่สุดในโลก ปัจจุบันชาวเอธิโอเปียส่วนใหญ่ต้องถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระในพื้นเปิดข้างทาง ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นการแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และพยาธิต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำ และคุกคามต่อระบบสาธารณสุขท้องถิ่น ทั้ง ๆ ที่การเข้าถึงห้องน้ำเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน พร้อมทั้งแสดงให้เห็นด้วยว่า ประชากร 2.3 พันล้านคนทั่วโลกยังคงขาดแคลนห้องน้ำที่บ้าน มากไปกว่านั้น อีกหนึ่งข้อมูลน่าตกใจจากรายงานคือ เกือบ 1 ใน 5 ของโรงเรียนประถม และ 1 ใน 8 ของโรงเรียนมัธยมทั่วโลกก็ปราศจากห้องน้ำเช่นกัน ทำให้เด็กนักเรียนจำนวน 620 ล้านคน ต้องตกอยู่ท่ามกลางอันตราย

ด้วยเหตุนี้ ประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสุขอนามัยของห้องส้วมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของห้องน้ำห้องส้วมภายในบ้าน และในที่สาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน วัด โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่ราชการ ฯลฯ เพื่อสกัดไม่ให้การขับถ่ายที่ไร้สุขอนามัยส่งผลเสียกับแม่น้ำ ทะเลสาบ และมหาสมุทรโดยตรง เพราะหวั่นกลัวว่าสิ่งเหล่านี้จะหวนกลับเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีก แต่ในปัจจุบันจากการดำเนินงานพัฒนาส้วมและการจัดการสิ่งปฏิกูลในประเทศไทยของกรมอนามัยตลอดหลายปี ก็เผยให้เห็นว่า ในประเทศไทย ครัวเรือนมีส้วมใช้และถูกสุขลักษณะ จำนวน 20.3 ล้านครัวเรือน คิดเป็น 99.8% อีก 0.2% หรือ จำนวน 40,729 ครัวเรือน ยังไม่มีส้วม หรือเป็นส้วมที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและยากลำบากในการเข้าถึงเท่านั้น


ที่มา : https://www.dailynews.co.th/article/807716/


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32