‘ลดอาหารที่ให้พลังงาน’ (Energy Reduction) VS ‘การอดอาหาร’ (Fasting) เลือกวิธีไหน? ถ้าอยากหุ่นเพรียว พร้อมสุขภาพดี

‘ลดอาหารที่ให้พลังงาน’ (Energy Reduction) VS ‘การอดอาหาร’ (Fasting) เลือกวิธีไหน? ถ้าอยากหุ่นเพรียว พร้อมสุขภาพดี

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยความรู้เรื่องเกี่ยวกับ ‘การอดอาหาร’ ซึ่งมีผลลัพธ์ที่ดีกว่า ‘การลดอาหาร’ ผ่านเฟซบุ๊ก Dr.Winai Dahlan ว่า...

รู้ ๆ กันอยู่ว่าการบริโภคให้ร่างกายได้พลังงานน้อยลง ช่วยรักษาสุขภาพได้ดีกว่าการบริโภคอาหารมากเกินไป เพราะการบริโภค ทำให้ร่างกายสิ้นเปลืองพลังงานไปกับกลไกการย่อยอาหาร 

เพียงแต่ถกเถียงดังกล่าวยังไม่จบแค่ว่าการทำให้ร่างกายได้รับพลังงานน้อยลงนั้น จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดหรือไม่?

โดย รศ.ดร.วินัย ได้ระบุว่า ในปัจจุบันมีผลการศึกษาเกี่ยวกับ ‘การอดอาหาร’ (Fasting) มีการให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการ ‘ลดอาหาร’ ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น...

• ไอเอฟ (Intermittent Fasting) โดยอดอาหารเป็นช่วง ใน 24 ชั่วโมง กำหนดช่วงอดอาหาร 16 ชั่วโมง กิน 8 ชั่วโมง
• แบบห้าต่อสองไดเอ็ต (5:2 Diet) ในหนึ่งสัปดาห์ กินอาหารตามปกติ 5 วัน อดอาหาร 2 วัน
• ปฏิบัติแบบมุสลิม ในเดือนรอมฎอน (Ramadan Fasting)

รศ.ดร.วินัย ยังได้หยิบยกผลวิจัยจาก ดร.ไฮดิ ปัก (Heidi H. Pak) แห่งคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา กับทีมงาน ซึ่งร่วมกันทำวิจัยในสัตว์ทดลอง (หนู) ผ่านผลงานตีพิมพ์ในวารสาร Nat Metab เดือนตุลาคม 2021 ด้วยว่า… (ใครสนใจลองไปหาอ่านใน https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34663973/)

จากผลการศึกษาสรุปได้ง่าย ๆ ว่า การอดอาหารอย่างสิ้นเชิง เช่น ที่มุสลิมถือศีลอด หรือ อดแบบไอเอฟ หรือ อดแบบห้าต่อสอง ให้ผลต่อสุขภาพดีกว่าการลดพลังงานจากอาหารลง 

เป็นต้นว่า การเลือกไม่รับประทานอาหารมื้อเช้า หรือมื้อเที่ยง หรือมื้อเย็นนั้น ให้ผลต่อสุขภาพ ‘สู้’ การอดอาหารอย่างสิ้นเชิงในช่วงเวลาหนึ่งไม่ได้ 

โดยจากการอดอาหารแบบ Fasting ได้ช่วยยืดอายุขัยของหนูทดลองให้ยืนยาวกว่า อีกทั้งทำให้สุขภาพทั่วไปดีกว่า

นอกจากนี้ การอดอาหารช่วยให้ระดับน้ำตาล รวมถึงระดับอินซูลินในเลือดดีขึ้น การทำงานของตับดีขึ้น ยืดอายุการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย กลไกการทำความสะอาดเซลล์ที่เรียกว่า ‘ออโตฟากี’ (Autophagy) ดีขึ้น 

อันเป็นคำตอบว่า เหตุใดอายุขัยจึงยืนยาวขึ้น การอดอาหารควบคู่ไปกับการจำกัดพลังงานที่ร่างกายได้รับ ยิ่งให้ประโยชน์ต่อสุขภาพมากขึ้น นักวิจัยได้ข้อสรุปมาอย่างนั้น

สิ่งที่นักวิจัยกำลังศึกษากันต่อ คือ โมเดลที่ใช้ศึกษาในหนูทดลอง สามารถนำมาประยุกต์ในมนุษย์ได้หรือไม่ และควรปฏิบัติกันในแนวทางไหน 

สุดท้าย สิ่งที่นักวิจัยได้ให้คำตอบส่วนหนึ่ง คือ การบริโภคอาหารนั้น หัวใจไม่ได้อยู่ที่บริโภคเท่าไหร่ แต่อยู่ที่บริโภคอย่างไรและเมื่อไหร่ 

ความรู้ทางโภชนาการ นับวันจึงยิ่งน่าสนใจ ที่กล่าวกันว่า “ควรเรียนรู้วิธีกินอาหารให้เป็นยา อย่ากินยาเป็นอาหาร” จึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่ง


ที่มา : https://www.posttoday.com/life/healthy/667559

https://www.facebook.com/1482913448683294/posts/2667881146853179/