ยุทธการกวาดให้เรียบ!! ‘Operation All Clear’ ปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ที่สุดของ ‘กองทัพภูฏาน’

เรื่องราวที่ดูน่าเหลือเชื่อที่ประเทศเล็ก ๆ ที่ดูสงบสุขอย่าง “ภูฏาน” ซึ่งมีกองทัพขนาดเล็ก มีกำลังพลจำนวนไม่ถึงหนึ่งหมื่นนาย ได้เปิดยุทธการทางทหารที่ต้องใช้กำลังพลเกือบหมดทั้งกองทัพในการปราบปรามกลุ่มต่อต้านรัฐบาลอินเดียซึ่งมีที่มั่นในดินแดนภูฏาน

สมเด็จพระราชาธิบดี Jigme Khesar Namgyel Wangchuck กับนายทหารระดับสูงของกองทัพภูฏาน

Operation All Clear เป็นปฏิบัติการทางทหารที่ดำเนินการโดยกองกำลังของกองทัพภูฏาน เพื่อต่อสู้กับกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนอัสสัมของอินเดียในภาคใต้ของภูฏาน ระหว่างวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ถึง 3 มกราคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรก ครั้งเดียว และเป็นครั้งใหญ่ที่สุดที่กองทัพภูฏานยุคใหม่ได้ปฏิบัติการ!! 

ด้วยในปี พ.ศ. 2533 กองทัพอินเดียได้เปิดยุทธการ Rhino และ Bajrang เพื่อปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนติดอาวุธอัสสัมกลุ่มต่าง ๆ เมื่อเผชิญกับการกวาดล้างอย่างต่อเนื่อง กลุ่มติดอาวุธอัสสัมหลายกลุ่มก็ได้ย้ายที่มั่นไปเข้ายังดินแดนของภูฏาน

ชาว Lhotshampa ในค่ายผู้อพยพ

ในปี พ.ศ. 2533 กลุ่ม United Liberation Front of Assam (ULFA) และ National Democratic Front of Bodoland (NDFB) ซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธอัสสัมถูกกล่าวหาว่ามีส่วนช่วยเหลือรัฐบาลภูฏานในการขับไล่ชาว Lhotshampa ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งในภูฏาน 

ปัจจุบันเฉพาะมลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกามีผู้อพยพชาว Lhotshampa ราว 20,000 คน

ชาว Lhotshampa เป็นชาวภูฏานเชื้อสายเนปาล มีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของภูฏาน จึงถูกเรียกขานกันว่า ‘ชาวใต้’ ในปี พ.ศ. 2550 ชาว Lhotshampas ซึ่งผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ได้รับการย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และประเทศในยุโรปอื่น ๆ ปี พ.ศ. 2564 ปรากฏว่า จำนวนชาว Lhotshampa ในเนปาลนั้นต่ำกว่าในสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่น ๆ ที่ได้ตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างมีนัยสำคัญ ชาว Lhotshampa เริ่มตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่ไม่มีคนอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของภูฏานในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ถูกต่อต้านและผลักดันออกจากดินแดนภูฏาน จนปัจจุบันเฉพาะมลรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา มีผู้อพยพชาว Lhotshampa มากกว่า 20,000 คน

ในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลภูฏานตระหนักถึงค่ายที่มั่นจำนวนมากบริเวณชายแดนทางใต้ที่ติดกับอินเดีย ค่ายเหล่านี้จัดตั้งขึ้นโดยขบวนการแบ่งแยกดินแดนอัสสัม 4 กลุ่ม ได้แก่ ULFA (United Liberation Front of Asom), NDFB (National Democratic Front of Boroland), BLTF (Bodo Liberation Tigers Force) และ KLO (Kamtapur Liberation Organisation) และยังมีค่ายกบฏแบ่งแยกดินแดนของสภาสังคมนิยมแห่งชาตินาคาแลนด์ (NSCN) และกองกำลังพยัคฆ์ตริปุระทั้งหมด (ATTF) ค่ายต่าง ๆ ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อฝึกอบรมนักรบ และจัดเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ ในขณะที่ป่าทึบในภูมิภาคนี้ทำให้กลุ่มติดอาวุธสามารถลักลอบเข้าสู่ดินแดนของอินเดียเพื่อปฏิบัติการทางทหารได้อย่างง่ายดาย

สมาชิกของกลุ่มกบฏ NDFB

อินเดียจึงได้ใช้ความพยายามกดดันทางการทูตต่อภูฏาน โดยให้การสนับสนุนในการกำจัดองค์กรกบฏกลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่ออินเดียให้ออกจากดินแดนของภูฏาน รัฐบาลภูฏานจึงได้เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างสันติ โดยเปิดการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธในปี พ.ศ. 2541 มีการเจรจากับกลุ่มกบฏ ULFA 5 ครั้ง กับกลุ่มกบฏ NDFB อีก 3 ครั้ง แต่กลุ่มกบฏ  KLO เพิกเฉยต่อคำเชิญทั้งหมดที่ส่งมาจากรัฐบาลภูฏาน ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 กลุ่มกบฏ ULFA ตกลงที่จะปิดค่ายสี่แห่ง อย่างไรก็ตามรัฐบาลภูฏานก็ตระหนักดีว่า ค่ายทั้ง 4 นั้ที่ถูกปิดนั้นพึ่งถูกโยกย้ายถ่ายเทคนและอาวุธยุทโธปกรณ์ออกไป

สมาชิกของกลุ่มกบฏ KLO ในปัจจุบัน (ต้นปี พ.ศ. 2564)

นอกจากนี้กลุ่มกบฏ KLO ยังถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเหมาของเนปาลกับกองกำลังพยัคฆ์ภูฏาน ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลภูฏาน สิ่งนี้ช่วยเสริมเหตุผลให้กับรัฐบาลภูฏานในการเริ่มปฏิบัติการทางทหาร

วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 สมาชิกรัฐสภาภูฏานได้เสนอให้เพิ่มจำนวนกองทหารอาสาสมัครของกองทัพภูฏาน โดยแนะนำการฝึกทหารอาสาสมัครแบบสวิสสำหรับพลเมืองทุกคนที่มีอายุระหว่าง 18 ถึง 50 ปี แต่ถูก ‘จิ๊กมี ทินลีย์’ รัฐมนตรีต่างประเทศ และนาย ‘พลโท บาตู เชอริง’ ผู้บัญชาการกองทัพปฏิเสธ 

วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2546 กลุ่มติดอาวุธมากกว่า 15 คน ได้เข้าโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ ULFA ในเมืองคินโซ ส่งผลให้สมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA เสียชีวิต 2 คน ผู้โจมตีหลบหนีไปหลังจากที่กองกำลังของกลุ่มกบฏ ULFA ยิงตอบโต้กลับ วันรุ่งขึ้นกลุ่มติดอาวุธราว 10 ถึง 12 คน โจมตีสมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA ที่อาศัยอยู่ในบ้านร้างในเมืองบาบัง กลุ่มติดอาวุธ 4 คน และนักรบของกลุ่มกบฏ ULFA หนึ่งนายเสียชีวิตระหว่างการปะทะ โฆษกหญิงของกลุ่มกบฏ ULFA กล่าวว่า การโจมตีมาจากทหารรับจ้างและนักรบของกลุ่ม SULFA ที่ได้รับการว่าจ้างจากรัฐบาลอินเดีย เจ้าหน้าที่อินเดียอ้างว่าการปะทะดังกล่าวเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกบฏด้วยกันเอง

ปฏิบัติการทางทหารใน ภูฏาน อินเดีย และเมียนมาร์ ในห้วงเวลาดังกล่าว

ในช่วงปี พ.ศ. 2546 ภูฏานได้จัดตั้งกองกำลังติดอาวุธขึ้นมาใหม่ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2546 กองทหารอาสาสมัครภูฏานประกอบด้วยอาสาสมัคร 634 นาย ถูกส่งไปประจำการยังภาคใต้ของประเทศ หลังจากผ่านการฝึกฝนอบรมเป็นระยะเวลา 2 เดือน กองทหารอาสาสมัครของภูฏานมีบทบาทสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในช่วงความขัดแย้งในปี 2546 นั่นเอง หลังจากการเจรจาล้มเหลวไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่สำคัญใด ๆ วันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 การแทรกแซงทางทหารได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2546 รัฐบาลภูฏานได้ยื่นคำขาดแก่กลุ่มกบฏออกจากดินแดนภูฏานภายในเวลาสองวัน วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2546 หลังจากคำขาดสิ้นสุดลง จึงเกิด Operation All Clear ซึ่งเป็นปฏิบัติการทางทหารครั้งแรกของกองทัพภูฏานยุคใหม่

วันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ตามคำให้การของผู้บัญชาการของกลุ่มกบฏ ULFA นายทหารระดับสูงแห่งกองทัพภูฏานได้ไปเยือนค่ายที่มั่นของกลุ่มกบฏ ULFA โดยอ้างว่า กษัตริย์ของภูฏานกำลังวางแผนที่จะเสด็จเยือนอย่างเป็นมิตรในวันรุ่งขึ้น แต่ปฏิบัติการที่ตามมาก็สร้างความประหลาดใจให้กับกลุ่มติดอาวุธโดยสิ้นเชิง

สมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA
 

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2546 กองทัพภูฏานสร้างความเสียหายแก่กลุ่มกบฏ หนึ่งในบรรดาผู้เสียชีวิตคือ ‘ราหุล ดัทตา’ ผู้บัญชาการของกลุ่มกบฏ ULFA กลุ่มกบฏที่เหลือทั้งหมด 90 คนยอมจำนน กองทัพภูฏานเข้ายึดกองบัญชาการกลางของกลุ่มกบฏ ULFA ไว้ได้

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2546 กองทัพอินเดียส่งกำลังทหาร 12 กองพันมาไว้ตามแนวชายแดนติดกับภูฏานเพื่อป้องกันการหลบหนีของกบฏ และอินเดียยังจัดเฮลิคอปเตอร์เพื่อช่วยเหลือกองทหารภูฏานในการอพยพผู้บาดเจ็บจากการปะทะเกิดขึ้นใน กาลิโกละ ทินทาลา และบุคคา ค่ายกบฏ 10 แห่งถูกทำลายภายในวันเดียว

วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2546 กลุ่มกบฏ ULFA ยอมจำนนที่พระวิหารหลังจากซ่อนตัวอยู่ในป่าเป็นเวลาสามวัน

วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ห้าวันหลังจากเริ่มปฏิบัติการ กลุ่มกบฏถูกขับไล่ออกจากค่ายที่มั่นทั้งหมด 30 แห่ง โดยที่ค่ายต่าง ๆ ถูกเผาและถูกรื้อทำลายจนราบเรียบ ในขณะเดียวกันกองทัพภูฏานยังคงสู้รบกับกลุ่มกบฏในป่าทึบทางตอนใต้ของประเทศ

ปาเรศร์ บารัว ผู้นำคนปัจจุบันของกลุ่มกบฏ ULFA

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2546 แกนนำกลุ่มกบฏ 5 คน รวมทั้ง ฮาชาบาทาน บาร์มาน รองหัวหน้ากลุ่มกบฏ KLO ถูกย้ายไปยังเมือง Tezpur อินเดียโดยเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพอินเดีย

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2546 กองทัพภูฏานได้สังหารกลุ่มกบฏไปแล้วประมาณ 120 คน สามารถจับกุมผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกลุ่มกบฏ ULFA ได้หลายคน กลุ่มกบฏจำนวนมากหลบหนีไปยังบังกลาเทศ และอินเดีย

กองทัพภูฏานสามารถยึดปืนไรเฟิลจู่โจมแบบ AK 47/56 จำนวน 500 กระบอก และอาวุธประเภทอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก

วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2546 กองทัพภูฏานสามารถยึดปืนไรเฟิลจู่โจมแบบ AK 47/56 จำนวน 500 กระบอก และอาวุธประเภทอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเครื่องยิงจรวด ปืนครก และอุปกรณ์สื่อสาร พร้อมด้วยกระสุนมากกว่า 100,000 นัด นอกจากนี้ยังพบปืนต่อสู้อากาศยานภายในค่ายใหญ่ของกลุ่มกบฏ ULFA สมาชิกของกลุ่มกบฏและพลเรือนที่ถูกจับกุมพร้อมกับอาวุธและกระสุนที่ยึดได้ถูกส่งไปให้รัฐบาลอินเดีย

วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2546 ค่ายของกลุ่มกบฏ ULFA ใน Goburkonda ถูกกองทัพภูฏานบุกเข้ายึดได้สำเร็จ หลังจากถูกระดมยิงด้วยปืนครก สามารถยึดเครื่องปั่นไฟ ข้าวสาร 20 ตัน และเครื่องรับโทรทัศน์ ฯลฯ

สมาชิกของกลุ่มกบฏ ULFA มอบตัวกับรัฐบาลอินเดีย

วันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2547 กองทัพภูฏานได้ทำลายจุดสังเกตการณ์ของกลุ่มกบฏเพิ่มเติมอีก 35 แห่ง

ปฏิบัติการทางทหารใน ภูฏาน อินเดีย และเมียนมาร์ ในห้วงเวลาดังกล่าว

ควันหลงจาก Operation All Clear

ในการดำเนินการติดตามการปฏิบัติการ พบว่ามี พลเรือนชาวภูฏาน 22 คน มีความผิดในการช่วยเหลือกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในข้อหาต่าง ๆ ตั้งแต่การจัดหาอาหารให้กับกลุ่มติดอาวุธ ไปจนถึงการให้บริการต่าง ๆ เพื่อแลกกับเงิน ชาวภูฏานอีก 123 คนถูกไต่สวนในข้อหาที่คล้ายกันในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2547

ระหว่างปี พ.ศ. 2551 ถึง พ.ศ. 2554 ตำรวจภูฏานและเจ้าหน้าที่ของกองทัพบกภูฏานได้ปฏิบัติการหลายอย่างกับกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ปรากฏชื่อ การปะทะหลายครั้งเกิดขึ้น ในขณะที่บุคลากรทางทหารของภูฏานต้องกำจัดวัตถุระเบิดหลายชิ้น และทำลายค่ายกลุ่มกบฏจำนวนหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวได้แก่ 

> ในปี พ.ศ. 2553 ทหารของกองทัพภูฏานถูกซุมโจมตีมีผู้เสียชีวิตในพื้นที่กาบรูกันดา โดยกบฏกลุ่ม NDFB ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการโจมตี
> วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2553 กองกำลังรักษาความปลอดภัยได้เปิดโปงค่ายของกลุ่มกบฏ NDFB ใหม่ห้าแห่งภายในภูฏาน
> วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ทหารของกองทัพภูฏาน 2 นายได้รับบาดเจ็บจากการวางระเบิดโดยกลุ่มกบฏ NDFB

สมาชิกของกลุ่มกบฏ NDFB มอบตัวกับรัฐบาลอินเดีย

วันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูฏานอย่างน้อย 4 นายได้รับบาดเจ็บหลังจากถูกกลุ่มติดอาวุธ 15 ถึง 20 คนซุ่มโจมตีในเขตซาร์ปังของภูฏาน กลุ่มกบฏ NDFB ถูกสงสัยว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตี และโฆษกของกลุ่มกบฏ NDFB ได้ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้สอบสวนและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการหายตัวไปของผู้นำกลุ่มกบฏ NDFB หลายคนระหว่าง Operation All Clear พร้อมปฏิเสธไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในการโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจภูฏาน


แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ Blockdit : THE STATES TIMES 
???? https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32